Contrast
Font
5ff47734bd97b7619a88562d9e328e0e.jpg

ป.ป.ช. TaC Team ลงพื้นที่จังหวัดน่าน กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการล่วงล้ำลำน้ำและบุกรุกป่า

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดน่าน
จำนวนผู้เข้าชม: 192

19/08/2565

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดย นายฉัตรชัย วีระเชวงกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดน่าน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ลงพื้นที่ร่วมกับ นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต กรณีการล่วงล้ำลำน้ำปัวและการบุกรุกป่า พื้นที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากข้อมูลการปักหมุดของเครือข่ายภาคประชาชน ชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต ว่าในพื้นที่อำเภอปัว บริเวณลำน้ำปัว ตำบลเจดีย์ชัย มีผู้ประกอบการรีสอร์ทและร้านกาแฟ สร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรล่วงล้ำลำน้ำปัว นำหินกรวดมาสร้างชายหาดบริเวณริมตลิ่ง มีการปิดกั้นลำน้ำและทางสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนในพื้นที่บริเวณวังน้ำปัว ตำบลสถาน มีการปลูกสร้างที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว สิ่งปลูกสร้างจำนวนหนึ่งล่วงล้ำลงไปในลำน้ำปัว อีกทั้งยังบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยภูคาและป่าผาแดง
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นและการลงพื้นที่ TaC Team พบว่า
1. พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตจุดแรก บริเวณลำน้ำปัว ตำบลเจดีย์ชัย เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ซึ่งเอกชนประกอบกิจการรีสอร์ทและร้านกาแฟ มีการสร้างลานคอนกรีตให้ผู้มาใช้บริการลงไปนั่งเล่นและพักผ่อนติดกับลำน้ำปัว ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการร้องเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินแล้วยืนยันว่า สิ่งก่อสร้างดังกล่าวถึงแม้จะอยู่ในลำน้ำแต่ยังอยู่ในแนวเขตโฉนดที่ดิน จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการจัดทำหลักหมุดแสดงแนวเขตที่ดินให้ชัดเจน
ส่วนชายหาดหินกรวดบริเวณริมตลิ่งหน้าที่ดินแปลงดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่ชายหาดบางส่วนอยู่นอกแนวเขตที่ดินและล่วงล้ำลงไปในลำน้ำ อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงเป็นภาพปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ผู้ประกอบการเคยมีการนำรถบรรทุกหินกรวดมาปรับพื้นที่ริมตลิ่งก่อนเปิดให้บริการ สำหรับแนวหินกรวดในลำน้ำที่กั้นขวางลำน้ำปัว พบว่ามีลักษณะเหมือนฝายชะลอน้ำที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพิ่มเติมให้ชัดเจนอีกครั้งในช่วงน้ำลด
ทั้งนี้ กรณีผู้ประกอบการเคยมีการสร้างแนวรั้วและเนินดินปิดทางสาธารณะที่ขนานไปตามแนวโฉนดที่ดินทั้งสองด้าน ปิดกั้นเส้นทางที่ประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นประจำเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าถึงลำน้ำปัวและข้ามไปยังพื้นที่ฝั่งตรงข้าม ผลจากการลงพื้นที่ TaC Team ผู้ประกอบการได้มีการปรับพื้นที่ทลายเนินดินบางส่วน และรื้อแนวรั้วคืนทางสาธารณะตามแนวโฉนดที่ดินด้านหนึ่งแล้ว คงเหลืออีกหนึ่งด้านที่ยังปิดไว้
2. พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตจุดที่สอง บริเวณวังน้ำปัว ตำบลสถาน เป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยภูคาและป่าผาแดง จัดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 4 5 มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในกรอบการสำรวจเพื่อจัดที่ดินให้ราษฎรตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่ผ่านมาวังน้ำปัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่นิยมและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงมีการเปลี่ยนสภาพการทำประโยชน์ในพื้นที่จากเป็นที่อยู่อาศัยและการเกษตร ไปเป็นการสร้างที่พัก ร้านอาหาร และร้านกาแฟ ทั้งลักษณะชั่วคราวและถาวร โดยในฤดูท่องเที่ยวมีการนำแคร่ไม้ไผ่นั่งทานอาหารวางตลอดแนวลำน้ำเพื่อบริการนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ TaC Team พบผู้ประกอบการบริเวณวังน้ำปัวอยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่เพื่อเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวซึ่งจะเริ่มเข้ามาในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป โดยหลายรายมีการทำแนวรั้วกั้นแบ่งเขตระหว่างร้านค้า ส่งผลเป็นการปิดกั้นเส้นทางตรวจการณ์ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งพบผู้ประกอบการดำเนินการก่อสร้างบ้านพักถาวรโดยไม่ได้แจ้งขออนุญาตต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่

Related