Contrast
Font
banner_default_2.jpg

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 พิพากษาตัดสิน นายประสิทธิ์ สมงอน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำและพวก จำคุก 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนดคนละ 2 ปี

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง
จำนวนผู้เข้าชม: 97

28/12/2566

             นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ กรณี นายประสิทธิ์ สมงอน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำกับพวก ว่าร่วมกันพิจารณาจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษขององค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ประจำปีงบประมาณ 2554 โดยมิชอบ

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

             จากการไต่สวนเบื้องต้น ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า นายประสิทธิ์ สมงอน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายสาธิต  ปัญญารัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นางสาวจิรภิญญาธร หรือ จีรนันท์ โทจำปา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายปรัญชัย วรรารักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายประสิทธิ์ รักสัตย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษแก่พนักงานส่วนตำบล ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างประจำปี 2554 ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำ ที่ 338/2554 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ได้ร่วมกันพิจารณาจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ ผู้กล่าวหาและนางมณทิราภรณ์ ชัยตระกูล น้อยกว่าสิทธิที่ควรจะได้รับโดยมิชอบ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามหนังสือสำนักงาน ก.จ., ก.ท.และ ก.อบต. ด่วนที่สุด ที่ มท 0809.3/ว.25 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2549 ประกอบประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดลำปาง เรื่อง กำหนดเงื่อนไข และวิธีการกำหนดโยชน์ตอบแทนอื่น สำหรับพนักงานส่วนตำบลเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 5 เมษายน 2549 นอกจากนี้ยังได้เรียกพนักงานส่วนตำบลและพนักงานจ้าง ผู้มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเข้าร่วมประชุมโดยแจ้งและตกลงกันที่จะหักเงินโบนัสของพนักงานผู้มีสิทธิรับเงินโบนัสเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกได้จากหน่วยงานแม้ทางการไต่สวนจะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการพิจารณาจ่ายเงินโบนัส ประจำปีงบประมาณ 2554 แต่เมื่อเงินโบนัสดังกล่าวเป็นของพนักงานที่เกิดจากผลงานการปฏิบัติหน้าที่ราชการแม้ว่าผู้ถูกเรียกจะยินยอมให้หักหรือไม่ก็ตาม การเรียกหักเงินโบนัสย่อมเป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0809.3/ว.3846 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ที่กำหนดห้ามมิให้เรียกรับผลประโยชน์หรือหักเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (โบนัส) จากข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างโดยเด็ดขาด การหักเงินโบนัสเพื่อไปเป็นค่าใช้จ่ายอื่น จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ของนายประสิทธิ์ สมงอน ผู้ถูกกล่าวหาที่1 กับพวก และภายหลังการประชุมดังกล่าว นางสาวจิรภิญญาธร หรือจีรนันท์ โทจำปา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งการให้นายประสาน ปัญโญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ในฐานะเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี จัดทำฎีกาและเอกสารการจ่ายเงินโบนัส จำนวน 2 ชุด เสนอนายประสิทธิ์ สมงอน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำ ลงนาม โดยเอกสารชุดที่ 1 ระบุจำนวนเงินโบนัสที่ยังมิได้ถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงส่วนเอกสารชุดที่ 2 ระบุจำนวนเงินโบนัสหลังถูกหักค่าใช้จ่ายตามที่ตกลง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 44,294 บาท ซึ่งนายประสาน ปัญโญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ได้นำเอกสารชุดที่ 2 ส่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาวังเหนือ เพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง จากนั้น วันที่ 31 ตุลาคม 2554 พนักงานส่วนตำบลและพนักงานจ้าง จึงได้รับเงินโบนัสหลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งมิใช่จำนวนที่ระบุในเอกสารรายละเอียดการเบิกเงินพนักงาน ลูกจ้าง องค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำ

             การกระทำของนายประสิทธิ์ สมงอน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และฐานกระทำการฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92

             การกระทำของนายสาธิต ปัญญารัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นางสาวจิรภิญญาธร หรือจีรนันท์ โทจำปา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายปรัญชัย วรรณารักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายประสิทธิ์ รักสัตย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และ นายประสาน ปัญโญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกาป้องกันและปราบปรมการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ของทางราชการ  มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานพฤติชั่วร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดลำปาง เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวนการลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2544 ข้อ 6 วรรคสอง และข้อ 19 วรรคสอง

การดำเนินการทางวินัย

             วันที่ 15 ธันวาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง ได้ส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาที่1พร้อมทั้งแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบและส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน  เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-6 ต่อมาผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-6 มีหนังสือแจ้งสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-6 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 98 ซึ่งบัญญัติผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษตามความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะสอบสวนวินัยอีก และให้ถือสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัย สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง จะรวบรวมข้อมูลและรายงานเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ชต่อไป ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่1 ทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ยังไม่แจ้งผลการดำเนินการแต่อย่างใด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง อยู่ระหว่างติดตามทวงถามเรื่องดังกล่าว

ดำเนินคดีอาญา

            อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญาฟ้องนายประสิทธิ์ สมงอน กับพวก รวม 6 ราย โดยแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปพบพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 5 ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566

            15 พฤศจิกายน 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขดำ ที่ อท. 54/2566 คดีหมายเลขแดงที่
อท. 168/2566 สรุปได้ว่า จำเลยทั้งหก (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 172 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพฯ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนดคนละ 2 ปี

Related