Contrast
Font
04644004561af2c848c32f51367f5a35.jpg

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จำนวนผู้เข้าชม: 79

21/02/2567
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป นางสาวจุฑารัตน์ เหลืองเพิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มอบหมายกลุ่มงานป้องกันการทุจริต โดยมีผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายบุญมา พ่วงสำราญ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ คณะครู และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง ดังนี้
1. โรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลชั้นปีที่ 2 ถึง ประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียน ทั้งสิ้น 1,709 คน
2. จากการตรวจสอบเรื่องอาหารเสริม (นม) โรงเรียน พบว่า เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โรงเรียนเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจรับเท่านั้น (โรงเรียนไม่มีสำเนาสัญญา) โดยจัดสรรทั้งในระหว่างเปิดภาคเรียนและปิดภาคเรียน ทั้งนี้ ในช่วงเปิดภาคเรียนนมที่ได้รับจะเป็นชนิดนมถุงพาสเจอร์ไรส์รสจืดและจะมีการจัดส่งให้กับทางโรงเรียนทุกวันในช่วงเช้าประมาณ 7.00 น. ตามจุดต่าง ๆ ที่โรงเรียนกำหนด และทำการแจกให้นักเรียนรับประทานหลังเลิกแถวช่วงเช้า (ปฐมวัยจะรับประทาน ในช่วงบ่าย) และในช่วงปิดภาคเรียนนมที่ได้รับจะเป็นนมกล่องยูเอชทีรสจืด จากการตรวจสอบ พบว่า
- ด้านคุณภาพ บรรจุภัณฑ์นมโรงเรียนมีลักษณะเป็นถุงสภาพสมบูรณ์ มีการระบุ
แหล่งผลิตและวันหมดอายุ แต่ไม่มีการระบุวันที่ผลิต และมีการเก็บรักษาในถังเก็บความเย็นโดยมีการใส่น้ำแข็งเพื่อรักษาอุณภูมิตรวจวัดอุณภูมิจัดเก็บได้ 5 องศาเซลเซียส (กำหนดไว้ไม่เกิน 8 เซลเซียส) ลักษณะนมมีลักษณะขาว ไม่มีกลิ่นเน่าเสีย รสชาติปกติ
- ด้านการจัดเก็บ เนื่องจากผู้ประกอบการจะส่งนมให้กับทางโรงเรียนในทุก ๆ วัน ประกอบกับทางโรงเรียนไม่มีนโยบายเก็บนมที่เหลือในแต่ละวัน โดยจะแจกให้กับนักเรียนทานเพิ่มเติมจนหมด (ทางโรงเรียนจะมอบนมที่เหลือให้กับนักเรียนที่มีจิตอาสาช่วยเหลือหรือพิจารณาจากความต้องการของเด็กเพิ่มเติม)
- ด้านการบริหารจัดการโครงการ โรงเรียนไม่ได้ดำเนินการจัดทำทะเบียนคุมการรับ - จ่ายนมให้กับนักเรียนให้เป็นปัจจุบัน (พบเพียงบางห้องเรียนที่มีการบันทึกข้อมูลเป็นปัจจุบัน)
ทั้งนี้จากการสอบถามเพิ่มเติมจากนักเรียนในพื้นที่ ได้รับแจ้งว่าได้รับประทานนมหลังเลิกแถวตอนเช้าจริง
3. จากการตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันนักเรียน พบว่า ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งปีการศึกษา พ.ศ. 2567 จำนวน 4,436,564 บาท (จำนวนเด็ก 1,709 คน x 22 บาทต่อคน x 118 วัน) โดยทางโรงเรียนจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อวัตถุดิบและดำเนินการจ้างเหมาแม่ครัวเป็นผู้ประกอบอาหาร ประกอบด้วยบุคลากรแม่ครัวหลัก จำนวน 10 คน วันละ 400 บาทต่อวัน ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจสอบเมนูอาหารกลางวันเทียบกับระบบ Thai School Lunch ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาพบว่าตรงกัน และได้มีการขอให้เปิดระบบ Thai School Lunch เพื่อตรวจสอบกับป้ายที่ประกาศ พบว่าตรงกันเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ดำเนินการตรวจพบว่าทางโรงเรียนได้มีรายการอาหารประกอบด้วย ข้าวสวย แกงส้มผักรวม ไก่กระเทียม และแก้วมังกร ซึ่งปริมาณอาหารที่นักเรียนได้รับมีความหลากหลายของรายการอาหารที่ประกอบไปด้วย เนื้อสัตว์ ผัก คาร์โบไฮเดรต และขนมหวาน ในประเด็นเรื่องความเพียงพอของอาหาร พบว่า มีนักเรียนบางรายไม่ได้รับอาหารในบางเมนู (ไก่กระเทียม) สืบเนื่องจากรูปแบบการกระจายอาหารของโรงเรียน ในบางชั้นเรียนโรงเรียนได้ดำเนินการจัดเวรให้นักเรียนเป็นผู้ดำเนินการแจกจ่ายอาหารให้แก่นักเรียนด้วยตนเอง จึงทำให้พบปัญหาถึงความทั่วถึงในการเข้าถึงอาหาร เช่น นักเรียนไม่รู้แหล่งเติมอาหารเพิ่มเติมกรณีที่เจ้าหน้าที่เตรียมอาหารไว้ไม่เพียงพอ นักเรียนไม่กล้าบอกครูกรณีที่ไม่ได้รับอาหารจากที่เพื่อนตักให้ ฯลฯ เป็นต้น
4. โรงเรียนมีการดำเนินการจัดทำอาหารกลางวันให้กับครูในโรงเรียน ผ่านการเก็บเงินคนละ 200 บาทต่อเดือน และมีเงินสวัสดิการสบทบอีก 200 บาทต่อเดือน รวม 400 บาทต่อเดือน โดยดำเนินการจ้างแม่ครัว (คนเดียวกับที่ทำให้นักเรียน) เป็นผู้ประกอบอาหาร โดยได้รับการชี้แจงว่าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารจำพวกเดียวกับของนักเรียนเพื่อลดภาระงานของแม่ครัว ซึ่งจะเป็นการซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมเข้ามาในส่วนของครูในโรงเรียน
ตามที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบและตรวจเอกสารเพิ่มเติม ได้มีข้อเสนอแนะกับโรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้
3.1 ประเด็นเกี่ยวกับนมโรงเรียน
1) ขอให้หน่วยงานดำเนินการจัดทำทะเบียนคุมบันทึกการได้รับหรือแจกจ่ายนมของโรงเรียนในทุกชั้นเรียนให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน
2) เรื่องการเก็บรักษาอุณภูมินมก่อนแจกจ่ายให้นักเรียน เนื่องจากโรงเรียนให้เด็กเป็นผู้มารับนม ณ จุดแจกจ่ายเอง ทำให้นมที่ยังไม่ได้ดำเนินการแจกจ่ายไม่มีน้ำแข็งปกคลุมซึ่งอาจทำให้คุณภาพเสื่อมลดลงได้ จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานดังกล่าวให้เรียบร้อย
3) การจัดการนมที่เหลือในแต่ละวัน ขอให้มีการบันทึกการแจกจ่ายนมเพิ่มเติมแก่นักเรียนให้ครบถ้วน และขอให้พิจารณาถึงหลักความเหมาะสม โดยอาจพิจารณาจากน้ำหนักของเด็กที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือฐานะของผู้ปกครอง ประกอบการพิจารณาการแจกจ่ายนมเพิ่มเติม
3.2 ประเด็นเกี่ยวกับอาหารกลางวัน
1) เนื่องจากทางโรงเรียนจะมีการดำเนินการจัดทำอาหารกลางวันให้กับครูร่วมกับนักเรียน จึงขอให้ดำเนินการแยกส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารให้ชัดเจน ทั้งนี้ ได้แนะนำให้ทำรายการอาหารที่แตกต่างจากของนักเรียน เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับการเบียดบังหรือทุจริตอาหารของนักเรียน
2) การบริหารจัดการในการกระจายอาหารให้กับนักเรียน เนื่องจากการตรวจสอบพบว่า มีการแบ่งหน้าที่ให้นักเรียนมีเวรการรับผิดชอบในการรับ – ส่งไปยังอาคาร รวมถึงการตักข้าวและอาหารด้วยตนเอง ทำให้บางครั้งจะมีการตักอาหารที่มากเกินความจำเป็นหรือเลือกสิ่งที่อยากรับประทาน ทำให้อาหารเกิดการเหลือทิ้งเกินความจำเป็น และอาจส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควบคุมและดูแลให้นักเรียนทุกคนได้รับอาหารอย่างถูกต้องครบถ้วน
3) เอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินต่าง ๆ ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำ จัดเก็บ ให้มีความเป็นปัจจุบันและง่ายต่อการตรวจสอบ โดยเฉพาะเอกสารเกี่ยวกับการจ้างเหมาแม่ครัวของโรงเรียน โดยขอให้มีการทำเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ บันทึกการปฏิบัติงาน และบันทึกการส่งมอบงานต่าง ๆ เพื่อเป็นเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ต่อไป
4) เนื่องจากหน่วยงานไม่ได้มีการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบ รวมถึงไม่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านไลน์กลุ่มผู้ปกครองรับทราบเกี่ยวกับอาหารกลางวันของโรงเรียน จึงเสนอให้โรงเรียนเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ให้สาธารณชนได้รับทราบ เช่น Facebook ของหน่วยงาน ไลน์กลุ่มผู้ปกครอง รวมถึงการเชิญสมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบของอาหารกลางวันของทางโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง
เบื้องต้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะติดตามความคืบหน้าเรื่องอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และอาหารกลางวันต่อไป

Related