
"ป.ป.ช. สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน"


วันที่ 6 มีนาคม 2568 นายเนติพล ชุมยวง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายกลุ่มงานป้องกันการทุจริต ร่วมกับชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนและติดตาม การดำเนินการตามมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ภายใต้โครงการโครงการผสานพลังป้องปรามการให้และการรับสินบน (Together against Bribery: TaB) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แขวงทางหลวงสุราษฎร์ธานี, แขวงทางหลวงชนบทสุราษฎร์ธานี, สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 11 (สุราษฎร์ธานี), สำนักงานขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ตำรวจทางหลวงสุราษฎร์ธานี ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดินและถนนหมดอายุการใช้งานก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ ทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนน และยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน

สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และให้รายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบ ดังนี้
1. การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินอย่างเป็นรูปธรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 ด้วย
2. พิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการควบคุมกำกับดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ
3. จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย
4. ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง โดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน จากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ การควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และรถบรรทุกต้องจัดให้มีป้ายแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่งด้วย พร้อมทั้ง สร้างช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิด
5. ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-speed weigh-in-motion; HSWIM) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge weigh-in-motion; BWIM) มาใช้ในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อลดปฏิสัมพันธ์และการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการชั่งน้ำหนัก
6. เพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

จากการประชุมเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดรับฟังปัญหา อุปสรรคจากหน่วยงานต่าง ๆ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ หลังจากการประชุมคณะฯ ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การปฏิบัติงาน ณ สถานีตรวจสอบน้ำหนักกาญจนดิษฐ์ (ขาออก) โดยหัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักกาญจนดิษฐ์ (ขาออก) ได้ให้ข้อมูลว่าได้มีการนำระบบเครื่องชั่งที่สามารถชั่งน้ำหนักได้ในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion System : WIM) เป็นระบบ automatic ที่ช่วยในการดำเนินงานสะดวก รวดเร็ว ในการคัดกรองว่ารถที่เข้าชั่งน้ำหนักเป็นประเภทใด มีน้ำหนักเท่าไร และถ้าน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดจะมีระบบแจ้งเตือน เพื่อตรวจสอบ และควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่จะเข้ามาใช้ถนน โดยสถิติจำนวนรถเข้าชั่งที่สถานีในปี 2567 ของสถานีตรวจสอบน้ำหนักกาญจนดิษฐ์ (ขาเข้า) มีจำนวนทั้งสิ้น 195,901 คัน มีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จำนวน 19 คัน และได้ดำเนินการทางกฎหมายกับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินตามที่กำหนดแล้ว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย อย่างเคร่งครัดและหากประชาชนพบเห็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี หมายเลขโทรศัพท์ 077-282172 หรือ facebook : สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ แจ้งเบาะแสร้องเรียนเป็นหนังสือ ส่งมาที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เลขที่ 222 หมู่ 1 ถนนกาญจนวิถี ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี