วันที่ 7 พฤษภาคม 2568
นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยกลุ่มงานป้องกันการทุจริต และชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับทราบกรณีปรากฎข่าวบนหน้าสื่อมวลชนออนไลน์ กล่าวถึง เครื่องจักรขนาดใหญ่มูลค่าเกือบ100ล.จอดทิ้งร้างตากแดด ตากฝนเหมือนของไร้ค่า...โดยมีข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าเป็นเรือขุดเจาะดูดโคลน / ดูดทรายของ กรมทรัพยากรน้ำ..คาดว่าราคาไม่น้อยกว่า 40-50 ล้านมี 2 ลำจอดทิ้ง อยู่ที่ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยพิจิตร ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร ได้ตรวจสอบประเด็นดังกล่าวพบว่าเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 9 เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรือดูดโคลนสะเทินน้ำสะเทินบก และโครงการปรับปรุงฟื้นฟูหนองหันตรา ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร โดยอยู่ในพื้นที่ของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (วิทยาลัยสงฆ์) พิจิตร ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการจอดเรือดูดโคลนและโครงการปรับปรุงฟื้นฟูหนองหันตรา โดยมีผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 9 เข้าชี้แจงว่าดรว สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 9 ได้รับการจัดสรรเรือดูดโคลนสะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 2 ลำ จากจำนวนทั้งหมด 8 ลำที่สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ กรมทรัพยากรน้ำได้จัดสรรให้สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 3, 5, 7, 9 แห่งละ 2 ลำ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 464 ล้านบาท ราคาต่อลำอยู่ที่ 57,862,500 บาท สัญญาจัดซื้อเริ่มปลายปี 2563 และได้รับมอบครุภัณฑ์ประมาณเดือนตุลาคม 2564 โดยบริษัท ธนะพัฒน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง เรือประกอบมาจากประเทศอิตาลี และถูกส่งมาเป็นชิ้นส่วนทางตู้คอนเทนเนอร์ และได้นำมาประกอบใช้ในโครงการปรับปรุงฟื้นฟูหนองหันตรา ซึ่งจะมีงานดินขุดด้วยเรือขุดจำนวน 9,980 ลบ.ม. และงานอื่น ๆ ด้วย รวมงบประมาณ 7,443,000 บาท ใช้งบประมาณไป 6,210,928.90 บาท วัตถุประสงค์ของการใช้เรือดูดโคลนเพื่อรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ โดยการกำจัดตะกอนเลนที่สะสมมานาน ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับ คือ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บได้ประมาณ 140,000 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวมีความล่าช้าในช่วงวันที่ 29 กันยายน - พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดพายุโนรูส่งผลทำให้เกิดอุทกภัยในปี 2565 จึงทำให้การดำเนินโครงการต้องหยุดดำเนินการไปประมาณ 2-3 เดือน ส่วนอุปสรรคในการใช้เรือดูดโคลนในพื้นที่นี้ คือ ลักษณะดินเป็นดินดานทำให้การทำงานในช่วงแรกเกิดปัญหาหัวดูดติดดินต้องปรับวิธีการใช้งาน ปริมาณเลนดินที่พบในชั้นดินลึกเพียงประมาณ 50-70 เซนติเมตร หลังจากนั้นเป็นดินดาน จึงทำให้ต้องปรับวิธีการใช้งานโดยให้หัวจักรปรับโน้มเอียงจึงจะสามารถดูดเลนดินบริเวณรอบ ๆ ตามรัศมีของตัวเรือดูดโคลนได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีโครงการหรือแผนงานที่จะย้ายเรือไปที่อื่น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายสูง ซึ่งการขนย้ายแต่ละครั้งใช้เงินประมาณ 1 ล้านบาท นอกจากนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการรองบประมาณโครงการปรับปรุงฟื้นฟูหนองหันตาในส่วนที่เหลือที่จะดำเนินการในระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะได้รับงบประมาณจากส่วนกลาง ประมาณ 25 ล้านบาท ที่ขอจัดสรรเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จึงทำให้ต้องจอดเรือดูดโคลนทิ้งไว้เป็นเวลา 2 ปี เพื่อรอดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 9 มีการบำรุงรักษาตามระยะเป็นประจำทุกเดือน เพราะหมดช่วงระยะประกันสัญญาที่บริษัทผู้รับจ้างดูแล โดยใช้งบประมาณค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาของหน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการวอร์มเครื่องยนต์เพื่อตรวจสอบสภาพความพร้อมการใช้งาน และตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องจักรกลของส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการชำรุดเสียหาย
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องดังกล่าวถึงความเหมาะสมการใช้เรือดูดโคลนในพื้นที่ เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของเรือดูดโคลนคือใช้สำหรับดูดโคลนและทราย แต่ด้วยสภาพพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว ด้านบนเป็นดินอ่อนแต่ด้านล่างเป็นดินดาน ทำให้ประสิทธิภาพของเรือดูดโคลนอาจไม่เต็มที่ หากพิจารณาว่าประสิทธิภาพการใช้งานเรือดูดโคลนเมื่อเทียบเท่ากับรถขุดดินทั่วไป ซึ่งสามารถใช้งานทดแทนกันได้หรือไม่ หรืออาจมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ารวมถึงมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แต่เนื่องจากเรือดูดโคลน มีราคาแพงถึง 57 ล้านบาทต่อลำ เมื่อเทียบกับสภาพการใช้งานที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่จึงทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานอาจลดลงไม่คุ้มค่า และเมื่อไม่ได้มีการใช้งานจะขนย้ายก็มีค่าใช้จ่ายสูงอีก เพราะต้องถอดประกอบแยกเป็นชิ้นส่วนจึงจะสามารถขนย้ายได้ ซึ่งค่าขนย้ายที่มีการเสนอราคาดำเนินการจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท โดยจะต้องใช้บริษัทผู้รับจ้างเป็นผู้ดำเนินการเนื่องจากเป็นเรื่องของเทคนิควิศวกรรมและความชำนาญเฉพาะทาง ในเบื้องต้นสำนักงานฯ ได้ให้คำแนะนำว่าในการดำเนินการหน่วยงานควรมีการสำรวจพื้นที่จังหวัดในความรับผิดชอบเพื่อหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งานของเครื่องจักรกลดังกล่าว และควรมีแผนงานการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ดำเนินการควรเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่หรือเป็นพื้นที่ที่สามารถดำเนินโครงการได้ในระยะยาว เพื่อให้เกิดการใช้งานเรือดูดโคลนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องค่าขนย้ายได้และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อความคุ้มค่า ซึ่งหากปล่อยทิ้งช่วงระยะเวลาการใช้งานนานไปเรื่อย ๆ อาจไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปในการจัดซื้อและการดูแลบำรุงรักษา
ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร จะร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 ดำเนินการขอข้อมูลการใช้งานของเรือดูดโคลนสะเทินน้ำสะเทินบกทั้ง 8 ลำ เพื่อตรวจสอบว่ามีการใช้งานเป็นอย่างไร สอดคล้องกับการขออนุมัติงบประมาณที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้หรือไม่ และหากพบว่าการจัดซื้อดังกล่าวไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือมีแผนงานที่จะดำเนินการอย่างชัดเจน ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร จะติดตามการดำเนินงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินที่เสียไปเกิดประโยชน์สูงสุด
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร
เลขที่ 26/3 ถ.ฝั่งสถานีรถไฟ ตำบลในเมือง
อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร 66000
โทรศัพท์ 0 56613407-9 Facebook : สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร
0 5661 3407 – 9