5 มิถุนายน 2568 เวลา 14.00 น.
นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. พิจิตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต และชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านย่านยาว ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร งบประมาณก่อสร้าง 15,743,210 บาท ซึ่งสร้างเสร็จมา 4 ปีกว่า แล้วแต่ยังไม่ได้ใช้งาน ทั้งที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตรได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปี 2564 แต่ยังไม่ได้มีการถ่ายโอนสถานีสูบน้ำฯ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงทดสอบระบบการใช้งานของโครงการดังกล่าว จึงเป็นที่มาที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตรจัดประชุมการแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดพิจิตรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องรับโอนสถานีสูบน้ำฯ ได้แก่ อบต.รังนก และ อบต.บ้านน้อย เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุมหลวงพ่อเงิน 3/1 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพิจิตร ซึ่งผลจากการประชุมดังกล่าวทำให้โครงการชลประทานพิจิตรมีการสำรวจ ตรวจสอบวัสดุ อุปกรณ์ ในโครงการฯ ที่ชำรุดเสียหายและดำเนินการซ่อมแซม พร้อมทดสอบระบบ ให้สามารถใช้งานได้ ไม่เกินเดือนมิถุนายน 2566 และจังหวัดพิจิตรเร่งดำเนินการโอนสินทรัพย์ของจังหวัดในเรื่องที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้างให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองแห่ง ซึ่งหลังจากการประชุมดังกล่าว โครงการชลประทานพิจิตรได้มีการทดสอบการใช้งานของสถานีสูบน้ำทั้งสองแห่ง พบว่าสามารถสูบน้ำขึ้นและสามารถปล่อยน้ำลงในพื้นที่เกษตรกรได้จริง รวมถึงจังหวัดพิจิตรได้ส่งมอบสินทรัพย์ของจังหวัดในเรื่องที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้างให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว

แต่วันนี้กลับพบว่าสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านย่านยาวตำบลรังนก อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร งบประมาณก่อสร้างจำนวน 15,743,210 บาท ยังไม่ได้ใช้งานด้วยเหตุเพราะปัญหาการถ่ายโอนและการขอรับค่าสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้ายังไม่สามารถทำได้ ซึ่งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านคลองตามี ตำบลบ้านน้อย อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร งบประมาณก่อสร้างจำนวน 32,530,000 บาท เป็นลักษณะเช่นเดียวกัน จึงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบว่าจังหวัดพิจิตรและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร เพื่อให้งบประมาณที่ใช้ก่อสร้างไปนั้น เกิดประโยชน์ในการใช้งานได้จริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ไม่ปล่อยให้ทิ้งร้างจนกระทั่งใช้งานไม่ได้
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตรจะขยายผลเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันการทุจริตและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหา การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว
"ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้"
ช่องทางการติดต่อ
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร
26/3 ถนนฝั่งสถานีรถไฟ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
โทรศัพท์ 0 5661 3407 – 9
ติดตามข่าวสารและแจ้งเรื่องร้องเรียนการทุจริต