เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต!!
ว่าด้วยเรื่องของ “การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม”
ตอนที่ 1 ในตอนที่ 1 นี้ เราจะมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ประโยชน์ส่วนบุคคล” และ “ประโยชน์ส่วนรวม หรือ ประโยชน์สาธารณะ” นั้น มีความหมายว่าอย่างไร
“ประโยชน์ส่วนบุคคล” หมายถึง การที่บุคคลทั่วไปในสถานะเอกชน หรือเจ้าพนักงานของรัฐในสถานะเอกชนได้ทำกิจกรรมหรือได้กระทำการต่างๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน ครอบครัว ญาติ เพื่อนหรือกลุ่มในสังคมที่มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่างๆ เช่น การประกอบอาชีพ การทำธุรกิจ การค้า การลงทุน เพื่อหาประโยชน์ในทางการเงินหรือในทางทรัพย์สินต่างๆ เป็นต้น
“ประโยชน์ส่วนรวม หรือ ประโยชน์สาธารณะ” หมายถึง การที่บุคคลใดๆ ในสถานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐได้กระทำการใดๆ ตามหน้าที่ หรือได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือการรักษาประโยชน์ส่วนรวม หรือการรักษาประโยชน์ส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ของรัฐ อันเป็นการดำเนินการในอีกส่วนหนึ่งที่แยกออกมาจากการดำเนินการตามหน้าที่ในสถานะของเอกชน
“การทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ” มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และจะมีรูปแบบของความสัมพันธ์หรือมีการกระทำในลักษณะต่างๆ ที่เหมือนหรือคล้ายกับการกระทำของบุคคลในสถานะเอกชน เพียงแต่การกระทำในสถานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐกับการกระทำในสถานะเอกชนจะมีความแตกต่างกันที่วัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือประโยชน์สุดท้ายที่แตกต่างกัน
---------------------------------
ตอนที่ 2 ในตอนที่ 2 นี้ เรามารับทราบความหมายของ “การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าพนักงานของรัฐ” ว่ามีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอย่างไรบ้าง
- การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าหนักงานของรัฐ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรูปแบบต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้
(2) เข้าไปพิจารณาดำเนินการในกิจการสาธารณะที่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในกิจการของรัฐเพื่อประโยชน์ของรัฐ
(3) มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้าไปแอบแฝงหรือได้นำประโยชน์ส่วนตนเข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ
(4) มีส่วนได้เสียในรูปแบบต่างๆ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เป็นกิจการส่วนรวมของรัฐ
---------------------------
ตอนที่ 3 ในตอนที่ 3 – ตอนที่ 5 นี้ เราจะมารับทราบถึงรูปแบบต่างๆ ของการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยสามารถจำแนกการกระทำออกเป็นรูปแบบต่างๆ ได้ 10 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
การรับผลประโยชน์ต่างๆ (Accepting benefits)
- การรับทรัพย์สิน, ของขวัญ, การลดราคา, การรับความบันเทิง, การรับบริการ, การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกันนี้ ทำให้อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของเจ้าพนักงานของรัฐในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
การทำธุรกิจกับตนเอง (Self – dealing) หรือเป็นคู่สัญญา (Contracts)
- เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานที่ตนสังกัด โดยอาจจะเป็นเจ้าของบริษัทที่ทำสัญญาเอง หรือเป็นของเครือญาติ สถานการณ์เช่นนี้เกิดบทบาทที่ขัดแย้ง หรือเรียกได้ว่าเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในเวลาเดียวกัน
การทำงานหลังจากออกจากตำแหน่งหน้าที่สาธารณะหรือหลังเกษียณ (Post – employment)
- หลังจากลาออกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว มีการไปทำงานในบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันหรือบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเดิม ทำให้รู้ข้อมูลความลับ ขั้นตอนวิธีการทำงาน หรือมีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ และมีการใช้อิทธิพลหรือความสัมพันธ์ หาประโยชน์ให้กับริษัทและตนเอง
--------------------------------------
ตอนที่ 4 ต่อเนื่องจากตอนที่ 3 เราจะมารับทราบถึงรูปแบบ่ต่างๆ ของการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม กันต่อเนื่องเลย
การทำงานพิเศษ (Outside employment or moonlighting)
- รูปแบบนี้มีได้หลายลักษณะ เช่น การแข่งขันกับหน่วยงานหรือองค์การสาธารณะที่ตนสังกัด, รับจ้างเป็นที่ปรึกษาโครงการ, การใช้ตำแหน่งราชการสร้างความน่าเชื่อถือ หรือในกรณีรับงานพิเศษเป็นที่ปรึกษาหรือดำเนินการให้กับบริษัทที่ต้องถูกตรวจสอบ
การรู้ข้อมูลภายใน (Inside information)
- ใช้ประโยชน์จากการที่ตนเองรับรู้ข้อมูลภายในหน่วยงาน และนำข้อมูลนั้นไปหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง และอาจจะไปหาประโยชน์โดยการขายข้อมูลหรือเข้าเอาประโยชน์เสียเอง
การใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ธุรกิจส่วนตัว (Using your employer’s property for private advantage)
- นำเอาทรัพย์สินของทางราชการซึ่งจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง หรือการใช้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำงานส่วนตัว
-------------------------------------
ตอนที่ 5 ต่อเนื่องจากตอนที่ 3 และตอนที่ 4 เราจะมารับทราบถึงรูปแบบ่ต่างๆ ของการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม กันต่อเนื่องเป็นตอนสุดท้ายแล้ว
การนำโครงการสาธารณะลงในเขตเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง (Pork – barreling)
- เป็นการที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้บริหารระดับสูงอนุมัติโครงการไปลงพื้นหรือบ้านเกิดของตนเอง หรือการใช้งบประมาณสาธารณะเพื่อหาเสียง
การใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง (Nepotism)
- เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง หรืออาจจะเรียกว่า ระบบอุปถัมภ์พิเศษ
การใช้อิทธิพลเข้าไปมีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐอื่น (Influence)
- เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองหรือพวกพ้อง เช่น เจ้าพนักงานของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้หยุดทำการตรวจสอบบริษัทของเครือญาติของตน
การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมรูปแบบอื่นๆ
- คือพฤติการณ์ของการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมที่นอกเหนือจาก 9 รูปแบบที่ได้นำเสนอไปแล้ว