Contrast
Font
3d4260f1b0c2ea742b8b389a21c04a63.jpg

ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย (Policy Formation) เพื่อรองรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 271

20/12/2565

วันนี้ (20 ธันวาคม 2565) สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย (Policy Formation) เพื่อรองรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ โรงแรม ที.เค. พาเลซ & คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

 

โดยภาคเช้า เป็นการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย : บทบาทสู่การพัฒนานโยบายพรรคการเมือง เพื่อประเทศไทยไร้ทุจริต” วิทยากรโดย ศาสตราจารย์ภักดี  โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ต่อจากนั้นเป็นการเสวนา หัวข้อ “การเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย เพื่อรองรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี พ.ศ. 2566” วิทยากร โดย ศาสตราจารย์ภักดี  โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รองศาสตราจารย์อัชกรณ์ วงศ์ปรีดี อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำเนินรายการ โดย นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

 

ภาคบ่าย เป็นการอภิปรายเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนานโยบายพรรคการเมือง ตามแนวทางเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย” วิทยากรโดย  รองศาสตราจารย์อัชกรณ์  วงศ์ปรีดี อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย  (Policy Formation)”  ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ผู้นำเกณฑ์ชี้วัดฯ ไปดำเนินการ โดยเฉพาะ พรรคการเมือง ที่จะพัฒนานโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนานโยบายพรรคการเมืองตามเกณฑ์ชี้วัดฯ ตลอดจนจะได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย (Policy Formation) ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้อง เหมาะสมกับบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน เพื่อรองรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไป ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย ตั้งแต่เริ่มต้นในขั้นตอนการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ก่อนที่จะผ่านการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ต่อไป

Related