จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 63
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักวิจัยและบริการวิชาการฯ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ถอดบทเรียนและแนวปฏิบัติที่ดีจากการต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ สู่การตรวจสอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาคการเมืองไทย” โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนจาก World Justice Project (WJP) China National Academy of Governance สาธารณรัฐประชาชนจีน Anti-Corruption and Civil Rights Commission (ACRC) สาธารณรัฐเกาหลี และ Corruption Eradication Commission (KPK) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ต่อต้านการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาคการเมือง พร้อมเปิดเวทีระดมความคิดเห็นกับผู้แทนพรรคการเมืองไทย เพื่อร่วมกันวางแนวทางการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
บทเรียนโลก...สู่โจทย์ใหม่ของการสร้างธรรมาภิบาลการเมืองไทย
ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ ได้สะท้อนปัญหา บทเรียนสำคัญ และแนวทางสำหรับการต่อต้านการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาลการเมืองไทย โดย Mr. Kamel Ayadi สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ World Justice Project (WJP) ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุสำคัญที่มาตรการต่อต้านการทุจริตในหลายประเทศล้มเหลว เกิดจากนักการเมืองขาดเจตจำนงทางการเมืองที่แท้จริง และการพึ่งพาดัชนีภาพลักษณ์มากเกินไป โดยไม่ได้มองลึกถึงโครงสร้างหรือปัจจัยแวดล้อมเชิงระบบของตนเอง จึงเสนอให้แต่ละประเทศพัฒนาดัชนีวัดความโปร่งใสที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและบริบทท้องถิ่น (Fact-based indicators) แทนการวัดจากความรับรู้จากดัชนีต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว พร้อมย้ำว่าการปราบปรามคอร์รัปชันไม่อาจยั่งยืนได้ หากไม่มีการปลูกฝัง “วัฒนธรรมคุณธรรม” และออกแบบระบบป้องกันที่รอบด้าน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Zhu Lingjun จาก China National Academy of Governance (CNAG) ได้ถ่ายทอดบทเรียนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ถือปฏิบัติมาอย่างยาวนานโดยการใช้แนวทาง “สามประสาน” คือ ลงโทษอย่างเด็ดขาดเพื่อให้คน “ไม่กล้าโกง” ออกแบบระบบที่ปิดช่องว่างเพื่อให้ “โกงไม่ได้” และเสริมสร้างค่านิยมในครอบครัวและชุมชนเพื่อให้ “ไม่อยากโกง” โดยยกตัวอย่างผลลัพธ์จากปฏิบัติการ “ท้องฟ้าใส” ที่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่หลบหนีกลับมาดำเนินคดีได้กว่า 10,000 ราย การเชื่อมโยงระหว่างกฎหมาย วินัยของพรรค และวัฒนธรรม ทำให้มาตรการของจีนมีพลังทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงสัญลักษณ์
สำหรับสาธารณรัฐเกาหลี Mr. Jungho Son จาก Anti-Corruption and Civil Rights Commission (ACRC) เน้นว่าการปฏิรูปการเมืองที่ยั่งยืนต้องมี “กลไกบังคับใช้” ที่เข้มแข็งเป็นตัวขับเคลื่อน โดยเฉพาะกฎหมายที่ออกแบบเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น พระราชบัญญัติที่บังคับให้นักการเมืองเปิดเผยผลประโยชน์ส่วนตน ห้ามใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ และขยายขอบเขตบทลงโทษไปถึงเครือญาติหรือผู้ใกล้ชิดที่เกี่ยวข้อง โดยชี้ว่าความโปร่งใสทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาคประชาชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคมร่วมกันสร้างฉันทามติ และไม่ลดเพดานความคาดหวังทางคุณธรรมของนักการเมือง
สุดท้าย Ms. Dotty Rahmatiasih จาก Corruption Eradication Commission (KPK) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้นำเสนอกลยุทธ์พัฒนา "ระบบคุณธรรมพรรคการเมือง" (Political Party Integrity System – SIPP) ที่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีจริยธรรมภายในเป็นหลัก เช่น ระบบสรรหาผู้สมัครอย่างโปร่งใส
กลไกตรวจสอบภายใน ระบบการเงินและบัญชีของพรรคการเมืองที่ตรวจสอบได้ และการอบรมจริยธรรมแก่สมาชิกพรรค พร้อมเสนอให้รัฐจัดงบสนับสนุนพรรคที่ดำเนินการธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง โดยกำหนดเงื่อนไขและเกณฑ์ประเมินที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้การสนับสนุนกลายเป็นเพียง "การแจกเงินโดยไม่มีความรับผิด"
เสียงจากไทย...เมื่อพรรคการเมืองพร้อมเปลี่ยน...ป.ป.ช. พร้อมขยับ
ในช่วงบ่าย สำนักงาน ป.ป.ช. และผู้แทนจากพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการแลกเปลี่ยนและระดมความเห็นโดยมีศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการประชุม สามารถสรุปสาระสำคัญว่า การดำเนินงานต้องอยู่ภายใต้จุดร่วมสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากการยอมรับว่า “ความปกติเดิม...ไม่อาจอยู่ได้ต่อไป” โดยเริ่มจากเสียงสะท้อนที่ตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยจะไม่มีวันฟื้นฟูศรัทธาได้ หากยังคงปล่อยให้นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่กระทำการทุจริตอำนาจลอยนวล ขณะที่มีเพียงผู้กระทำการทุจริตในระดับเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษ โดยผู้แทนจากพรรคการเมืองได้เสนอให้ระบบยุติธรรมเดินหน้าจริงจังในการเอาผิดกับผู้มีอำนาจและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง พร้อมสร้างแนวร่วมระหว่างพรรคการเมืองเพื่อร่วมผลักดันความยุติธรรมให้มีความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงต้องมีระบบการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและผู้ร้องเรียนการทุจริตที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงบทบัญญัติในข้อกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีความมั่นใจที่จะเปิดโปงแจ้งเบาะแสการทุจริต
ผู้แทนพรรคการเมืองมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่ามีความจำเป็นที่พรรคการเมือง สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันลงนาม “สัตยาบรรณต่อต้านการทุจริต” ซึ่งสัตยาบรรณดังกล่าว ต้องยกระดับให้เป็นกติกาทางการเมืองร่วมกันที่ทุกพรรคการเมืองที่ร่วมลงนามในสัตยาบรรณต้องยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง เป็นคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้ตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง “จริยธรรม” ต้องมีการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของ
แต่ละหน่วยงาน โดยต้องมีการบังคับใช้และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ผู้แทนภาคการเมืองได้สะท้อนถึงบทบาทสำคัญสำนักงาน ป.ป.ช. ว่าต้องมีความจริงจัง กับเรื่อง “ผลประโชยน์ทับซ้อน” โดยพรรคการเมืองได้เสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช. จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง เพื่อไม่ให้มีพื้นที่สีเทาที่เป็นช่องว่างของการทุจริตได้
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมครั้งนี้นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพลังร่วมระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และพรรคการเมืองในการยกระดับธรรมาภิบาลภาคการเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะนำข้อเสนอและเสียงสะท้อนจากทั้งการถอดบทเรียนจากองค์กรต่างประเทศและภาคการเมืองไทยไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาคการเมือง พร้อมเดินหน้าร่วมหารือกับทุกพรรคการเมืองเพื่อร่วมกันออกแบบมาตรการ กลไก และแนวทางขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย
เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม และวางรากฐานใหม่ให้การเมืองไทยเป็นระบบที่ยึดโยงกับธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
-----------------------------------------