Contrast
Font
aadda80fcf1ee9b23d7d4bc71ea35f2e.jpg

ป.ป.ช. จับมือ MOU กับ สว. และ สผ. ขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 178

09/01/2566
ป.ป.ช. จับมือ MOU กับ สว. และ สผ. ขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
--
วันที่ 9 มกราคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องโถงกลาง (ห้องสัมมนา B1-1 ชั้น B1 ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร) อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา กรุงเทพมหานคร
--
โดยได้รับเกียรติจาก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เข้าร่วมงานและร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในบันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. น.ส. นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา และ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
--
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันการทุจริต ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเห็นชอบร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน เผยแพร่ และประสานการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล กิจกรรม โครงการ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทอำนาจหน้าที่ และภารกิจตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตฉบับนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติ มิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) และแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมีแนวทางการดำเนินการร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและปรามปราบการทุจริต
--
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะองค์กรต้นแบบ ขับเคลื่อนแนวคิด STRONG -องค์กรพอเพียงต้านทุจริต นำไปสู่การเป็นองค์กรโปร่งใส ปลอดจากสินบน จากความร่วมมือของผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับภายในองค์กร โดยปรับประยุกต์ ใช้โมเดล STRONG เป็นแนวทางในการพัฒนา องค์กร ภายใต้ชื่อโครงการ STRONG -องค์กรพอเพียงต้านทุจริต โดยมุ่งเน้น การสร้างและพัฒนาศักยภาพ โค้ช STRONG องค์กรพอเพียงต้านทุจริต ทำหน้าที่เป็นผู้นำและพี่เลี้ยงให้แก่สมาชิกในชมรม (เครือข่ายบุคลากร) ของหน่วยงาน ซึ่งต้องดำเนินการ ขยายผลด้วยการสร้างเครือข่ายภายในองค์กร เพื่อผลักดันให้หน่วยงานมีกลไกในการจับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch and Voice) จัดตั้งชมรมฯ ส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส ไร้สินบน ภายในองค์กร และร่วมกับสำนักงานป.ป.ช. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางปฏิบัติให้แก่หน่วยงาน จากนั้นถอดบทเรียนจากขั้นตอนการดำเนินงานและประสบการณ์ขององค์กรพอเพียงต้านทุจริต พร้อมเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอข้อมูลการส่งเสริมความโปร่งใสภายในองค์กร และแนวทางจากการขยายผลของแต่ละประเภทองค์กร เพื่อจุดประกายพลังการมีส่วนร่วมต้านทุจริตในระดับองค์กรอย่างยั่งยืน
--
พร้อมนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติกล่าวมอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของรัฐสภาและส่วนราชการสังกัดรัฐสภา และ พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวมอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันการทุจริต ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

Related