ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางพัฒนานวัตกรรม และหลักสูตรการเรียนรู้สมัยใหม่ภายใต้กิจกรรม : ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางการพัฒนานวัตกรรมหรือแนวทางการผลักดันเพื่อการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โครงการพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education)
--
ระหว่างวันที่ 13 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักต้านทุจริตศึกษา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางพัฒนานวัตกรรม และหลักสูตรการเรียนรู้สมัยใหม่ภายใต้กิจกรรม : ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางการพัฒนานวัตกรรมหรือแนวทางการผลักดันเพื่อการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โครงการพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) โดยมี นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้กล่าวเปิดกิจกรรม พร้อมมอบแนวทางการพัฒนาหลักสูตรด้านทุจริตศึกษา และนวัตกรรมทางการศึกษา และนางสวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักงานทุจริตศึกษา เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ โรงแรมโนโวเทล บางนา เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร
--
การจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนานวัตกรรมหรือแนวทางการผลักดันเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
--
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ หน่วยงาน NGO สื่อมวลชน สถาบันการศึกษา เครือข่ายชมรมสตรอง -จิตพอเพียงต้านทุจริต กลุ่มเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนนทบุรี รวมทั้งสิ้น 65 คน
--
กิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ คือ การอภิปราย เรื่อง "แนวโน้มการทุจริตในสังคมไทยและสังคมโลกสู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ และนวัตกรรมต่อต้านการทุจริต” เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม และเชื่อมโยงกับการผลักดันการยกระดับค่า CPI โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ดร. มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. / รองประธานอนุกรรมการสร้างและพัฒนาชุดหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ ต้านทุจริตศึกษา พ.ศ. 2565 ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
จากนั้น เป็นการแบ่งกลุ่มการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้สมัยใหม่ และแนวทางพัฒนานวัตกรรมต่อต้านการทุจริต และการแบ่งกลุ่มการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้สมัยใหม่ และนวัตกรรมสู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ต้านทุจริตศึกษา พ.ศ. 2567 ดังนี้
กลุ่มที่ 1 : กลุ่มหลักสูตรสำหรับครอบครัว
กลุ่มที่ 2 : กลุ่มหลักสูตรสำหรับสถานศึกษา
กลุ่มที่ 3 : กลุ่มหลักสูตรสำหรับประชาชน / เอกชน
กลุ่มที่ 4 : กลุ่มหลักสูตรสำหรับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มหลักสูตรสำหรับนักการเมืองระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
--
ซึ่งการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังว่า จะได้รับข้อเสนอของประเด็นหลักสูตรสำคัญ ที่ทางสำนักงานป.ป.ช. ควรจะดำเนินการพัฒนาเป็นชุดวิชาหรือหลักสูตรสำคัญต่อไป โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คือเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เราก็ได้มีการกำหนดแผนดำเนินการพัฒนาหลักสูตรด้านทุจริต พ.ศ. 2567 เนื้อหาใหม่ที่มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์การทุจริตในปัจจุบันและอนาคต