จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 285
สำนักงาน ป.ป.ช. ผนึกกำลังร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มุ่งสร้างการส่วนร่วมภาคประชาชน องค์กร ชุมชน ด้วยเครือข่ายผู้ก่อการดี 171 ตำบล ใน 17 จังหวัด เฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริต พร้อมส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมสุจริตในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับชาติ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและขับเคลื่อนการดำเนินการที่จะสร้างแนวทางการปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสำนึกให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต โดยมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี การสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม การไม่รับสินบน มีความละอายต่อการกระทำผิดและไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกัน เฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ
โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพ ขยายผลเครือข่าย ภาคประสังคม เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรชุมชน และเครือข่ายอื่น ๆ ผ่านการขับเคลื่อนภายใต้โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน โดยร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดองค์กรชุมชนที่มีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งมีบทบาทความสามารถและมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่โดยตรง และถือเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศ
จากการดำเนินโครงการนี้ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่เครือข่ายภาคประชาชนใน 3 ประการ คือ 1.เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยการเชื่อมโยงภาคประชาชน องค์กร ชุมชนต่าง ๆ รวมตัวเป็นเครือข่ายผู้ก่อการดีในการเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริต 171 ตำบล/เมือง ใน 17 จังหวัด ซึ่งมีเครือข่ายภาคประชาชนมากกว่า 30 ประเภทเข้าร่วม เช่น สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นต้น
2.มีการจัดทำแผนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 171 ตำบล/เมือง ใน 17 จังหวัด โดยการวิเคราะห์ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่ และ
3.ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมสุจริตควบคู่กับการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ และการสร้างการรับรู้และจิตสำนึกประชาชนในพื้นที่ เช่น อบรมเกี่ยวกับผลกระทบและอันตรายที่เกิดจากการทุจริต รูปแบบการทุจริตและการประพฤติมิชอบ และการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริต สร้างระบบพื้นที่เปิดเผยโปร่งใส ที่ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสและช่องทางรับรู้ข้อมูลโครงการและงบประมาณ แสดงความคิดเห็น และร่วมปฏิบัติการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานเชิงป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุทุจริตขึ้น
ทั้งนี้ จากการดำเนินการต่อต้านการคอร์รัปชันผ่านเครือข่ายภาคประชาสังคมต่าง ๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของภาคประชาชนอย่างชัดเจนในการที่จะร่วมกับภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตให้ลดน้อยลงจากสังคมไทย