Contrast
Font
af754f6ab7f010efdb03ad8280387612.jpg

ISO 37001 มาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 256

06/05/2566

          เป็นเวลากว่า 70 ปีที่คนส่วนใหญ่ได้ยินคำว่า มาตรฐาน ISO หรือ  International Organization for Standardization องค์การระหว่างประเทศว่าด้วย การสร้างมาตรฐาน  มีหน้าที่ออกมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการวัดคุณภาพองค์กรให้เป็นมาตรฐานสากล มีหลายมาตรฐานครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจ โดย ขึ้นต้นด้วย ISO และต่อท้ายด้วยตัวเลขเพื่อแยกชนิดของมาตรฐาน มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกร่วมประมาณ 162 ประเทศทั่วโลก

          หลายองค์กรใช้มาตรฐานสากล ISO เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ ในการสร้างมั่นใจให้ลูกค้า และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรที่ได้รับการตรวจสอบ โดยบุคคลที่สามที่มีอิสระ (Certification Body) รวมทั้งองค์กรในประเทศไทยด้วย ที่พยายามให้องค์กรผ่านมาตรฐาน ISO ด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องรับประกันองค์กรเช่นกัน

          ในขณะที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ  (Transparency International) ระบุว่า การติดสินบน เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน เพราะเป็นการนำเสนอ สัญญาว่าจะให้ ผลประโยชน์ ในรูปแบบของเงิน หรือสิ่งตอบแทน แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคล หรือองค์การ ธุรกิจทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม  เพื่อแลกเปลี่ยนหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ ในขณะที่มีข้อมูลจากธนาครโลกประเมินว่า ในแต่ละปี มีองค์กรธุรกิจกว่า 50% จ่ายเงินเพื่อติดสินบน ปีละ 1 ล้านล้านหรียญสหรัฐ หรือ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก ซึ่งจะสร้างปัญหามากมาย ไม่ใช่เพียงความน่าเชื่อถือขององค์กรเท่านั้น แต่เป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาการแข่งขันของประเทศ และเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาความยากจนโลกด้วย

          ทำให้ สหประชาชาติ (UN) และ องค์การเพื่อการร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้จัดการประชุม เพื่อหารือวิธีปราบปรามและป้องกันการติดสินบนอย่างจริง ๆ หลายประเทศเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เรียกว่า การให้สินบนเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายในทุกประเทศทั่วโลก ในขณะที่ ISO ตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว ดังนั้นจึงมีการสร้างข้อกำหนดการป้องกัน ตรวจสอบ และการจัดการความเสี่ยงในการติดสินบนในองค์กร ด้วยมาตรฐานสากลที่เรียกว่า  ISO 37001 มาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน (anti-bribery management systems) ที่เพิ่งประกาศใช้ประมาณ 5 ปี  เป็นมาตรฐานที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการต่อต้านการ ติดสินบนที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ดี เพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่ สามารถนำไปประยุกต์ ใช้ได้กับทุกองค์กร

          สำหรับองค์กรในประเทศไทย มีข้อมูลว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรของประเทศไทยที่มีการนำ ISO 37001 มาใช้เป็นรายแรกและรายเดียวในตอนนี้  นอกจากนี้ องค์กรกรุงเทพมหานคร  โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งไม่นาน ได้ให้นโยบาย เรื่องการต่อต้านการทุจริต ไม่ทนต่อการทุจริต ไม่ส่งไม่ส่วย เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียน ผ่านทาง Traffy Fondue ประมาณ 70 เรื่อง ไม่นับรวมการร้องเรียนโดยตรง จึงประกาศให้ใช้ ISO 37001 ในองค์กรจะเริ่มจากสำนักที่สำคัญๆ ก่อน เช่น สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตชั้นใน สำนักงานเขตขั้นนอก เพื่อเป็นตัวอย่างทำให้เป็นมาตรฐาน โดยให้คนภายนอกเข้ามาประเมินด้วย 

          นอกจากนี้ยังมีหลายองค์กรที่พยายามจะนำ  มาตรฐาน ISO 37001 เช่น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จัดการอบรมหลักสูตร  Anti-corruption  “มาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ISO 37001 และกรณีศึกษาด้านการทุจริตคอร์รัปชัน” เพื่อรณรงค์ ส่งเสริม และสร้างจิตสำนึกที่ดีในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยและทวีความรุนแรงมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “คุณจะเปลี่ยน (พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชัน) หรือ จะปล่อย (พฤติกรรมการทุจริต คอร์รัปชัน) คุณเท่านั้นที่เป็นคนเลือก” 

          ปัจจุบันนี้มีหลายองค์กรที่เริ่มศึกษา มาตรฐาน ISO 37001 เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับการติดสินบนในองค์กร  คำถามคือ ถึงเวลาที่องค์กรของคุณต้องนำมาตราฐานนี้มาใช้หรือยัง

 

รายการอ้างอิง

 

ประชาชาติธุรกิจ (2566) ชัชชาติ  ปราบโกง ด้วย ISO 37001 สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/opinion-column-10/news-1260705

ผู้จัดการออนไลน์ (2566) ชัชชาติ นั่งหัวโต๊ะระดมต้านทุจริต จ่อใช้ ISO 37001 ต่อต้านทุจริตในหน่วยงานป้องกันการติดสินบน สืบค้นจาก  https://mgronline.com/qol/detail/9660000032727

ISO. (n.d) ISO 37001 Anti- bribery management systems. Retrieved from https://www.iso.org/iso-37001-anti-bribery-management.html

Related