Contrast
Font
acd3774e57f67a97b5519c4bc7b84e80.jpg

ขับเคลื่อนประเทศไทย สร้างความโปร่งใสด้วย ITA

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 671

07/05/2566

          นอกจากการจัดอันดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ที่ได้รับการประเมินจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ในทุกปีแล้ว ในประเทศไทยเองก็มีการประเมินความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐด้วยเช่นกัน เรียกว่า การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) หรือที่เรียกว่าการประเมิน ITA ซึ่งเจ้าภาพหลักในการประเมินคือ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี โดยเป็นการประเมินใน 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ “งาน งบ ระบบ และคน” เป็นเหมือนการตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย ให้ทราบว่าผู้ถูกประเมินมีสุขภาพอย่างไร มีระบบการทำงานของอวัยวะภายในใดที่ผิดปกติหรือไม่  โดย สำนักงาน ป.ป.ช. จะเข้ามาทำหน้าที่เปรียบเสมือน “หมอ” ที่คอยให้คำแนะนำว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รวมถึงคอยตรวจเช็คเพื่อเตรียมแผนการรักษาหากพบว่ามีความเจ็บป่วย เพราะหลักสำคัญของ ITA คือ เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นเตือนให้หน่วยงานภาครัฐตระหนักอยู่เสมอว่า “ต้องปฏิบัติงานด้วยความสุจริตโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน”

          หน่วยงานที่เข้าร่วมประเมินในปี พ.ศ. 2566 นี้ มีหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมประเมิน ITA จำนวน 8,323 หน่วยงาน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 ที่มีจำนวน 8,303 หน่วยงาน โดยหน่วยงานที่เพิ่มขึ้น เป็นหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางที่มาร่วม 20 หน่วยงาน ส่วนใหญ่เป็นกรมต่าง ๆ ในสังกัด กระทรวงการต่างประเทศ 12 กรม ที่เหลือเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงต่าง ๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษา ฯลฯ และยังครอบคลุมไปถึงหน่วยงานในระดับท้องถิ่นที่จะต้องเข้ารับการประเมินร่วมด้วย ซึ่งการประเมินมาจากแหล่งข้อมูล 3 แหล่ง ได้แก่

1. กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐร่วมแสดงความคิดเห็นใน 3 ตัวชี้วัดหลัก ๆ ได้แก่ คุณภาพการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการสื่อสาร และการปรับปรุงระบบการทำงาน

2. กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐทุกระดับที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้มีโอกาสสะท้อนและแสดงความคิดเห็นต่อคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานตนเองโดยสอบถามการรับรู้และความคิดเห็นใน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้อำนาจ ใช้ทรัพย์สินของราชการ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต

3. แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด OIT เป็นการตรวจสอบระดับการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เผยแพร่ไว้ทางหน้าเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน แบ่งออกเป็น 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล ทั้งในด้านข้อมูลพื้นฐาน คือ การบริหารงาน การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการส่งเสริมความโปร่งใส รวมทั้ง ด้านการป้องกันการทุจริต ซึ่งจะลงรายละเอียดถึงมาตรการที่เชื่อมโยงการป้องกันการทุจริตร่วมด้วย ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ตั้งเป้าหมาย คะแนน ITA รวมที่ 85 คะแนน และเชื่อมั่นใจว่าจะสามารถ เป็นไปตามเป้าได้

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า การประเมินตามดัชนี ITA มีการทำอย่างต่อเนื่อง และจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ที่ผ่านมาเป็นเพียงการประเมินเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษ มีเพียงคำแนะนำ แต่ขณะนี้เริ่มมีบางหน่วยนำคะแนน ITA ไปใช้ประกอบในการเลื่อนขั้น ส่วนเรื่องการประเมิน ข้อมูล IIT และ ข้อมูล EIT จากเดิมใช้ระยะเวลา 3 เดือน ก็จะเพิ่มเป็น 6  เดือนด้วย โดยประโยชน์จากการประเมิน ITA จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริตในหลายด้าน อาทิ ได้รับทราบระดับคุณธรรมและความโปร่งใสและการปรับปรุงแก้ไข 2. ได้ดำเนินการตามกฎหมายที่ส่งเสริมความโปร่งใสอย่างถูกต้อง 3. สะท้อนภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน 4. เกิดความตระหนักในการดำเนินงานของตนเอง”

          ITA สะท้อนสร้างความเชื่อมั่นในด้านความโปร่งใสมีธรรมาภิบาลได้มากน้อยแค่ไหน? … ข้อนี้อาจไม่มีตัวชี้วัดใดที่ประเมินออกมาแล้วการันตีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าผลลัพธ์จะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในด้านการลด หรือการันตีว่าหน่วยงาน หรือองค์กรที่ได้รับการประเมินจะปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน แต่การประเมิน ITA ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นให้มีความสุจริต โปร่งใสเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ตลอดจนยังเป็นกรอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะต้องปฏิบัติงานภายใต้หลักเกณฑ์ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงการพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณ ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ไม่เบียดบังงบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล ตลอดจนยังเป็นกรอบที่คอยตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และดุลยพินิจที่อาจส่งผลต่อการทุจริตคอร์รัปชันอีกทางหนึ่งด้วย

          ในขณะเดียวกันก็อาจมีประเด็นคำถามทางสังคม ในด้านคะแนนของ ITA ในบางกรณีที่พบเป็นข่าวว่าได้คะแนนประเมินสูง แต่ภายในมีการทุจริตคอร์รัปชันโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงาน อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้คะแนน ITA ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็น 85.79 คะแนน และมีระดับผลการประเมิน (Rating Score) อยู่ที่ “ระดับ A ถือได้ อยู่ระดับสูงมาก และเป็นหน่วยงานที่ได้คะแนนในระดับ A ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 62-65 แต่มีข่าว อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถูกจับในข้อหาเรียกรับผลประโยชน์ และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต

          เหตุของปัญหาในการประเมิน ITA จึงยังมีข้อถกเถียงกันในด้านความน่าเชื่อถือ เนื่องจากการประเมิน ITA มีปัญหา คือ ตัวชี้วัดมากถึงครึ่งหนึ่งหรือ 5 จาก 10 ตัว มาจากการให้ ‘คนใน’ ประเมินองค์กรตัวเอง และไม่มีกลไกคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล จึงสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้ความเห็นที่แท้จริง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ยังมีระบอบอุปถัมภ์ หรือการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก

          ส่งผลให้บุคลากรโดยเฉพาะลูกจ้างหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย รู้สึก ‘หวาดกลัว’ ที่จะให้คะแนนตามความเห็นของตนจริงๆ เพราะคะแนนทั้งหมดต้องผ่านผู้บริหารของหน่วยงาน ซึ่งเป็นผู้ให้คุณให้โทษกับบุคลากรดังกล่าว

          อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวม ITA ก็ยังส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนการทำงานของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากแม้การเปลี่ยนพฤติกรรม “คน” จะเป็นเรื่องยาก แต่การมีเครื่องมือการตรวจสอบเข้ามาช่วยควบคุม ดูแล ก็จะช่วยให้การทำงานของภาครัฐมีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น เพราะการประเมิน ITA เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกิดความตระหนัก และนำกรอบการประเมินที่กำหนด ไปพัฒนา ระบบงาน เพื่อมุ่งเน้นให้หน่วยงาน ปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลด โอกาส ลดความเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดการทุจริตในหน่วยงาน เนื่องจากการประเมิน ITA มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีการรับรู้การทุจริต ในมุมที่เกี่ยวกับภาครัฐ แม้จะไม่รวมในมุมที่เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมือง กระบวนการยุติธรรม แต่ก็เชื่อว่า ผลคะแนนจากการประเมิน ITA ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานภาครัฐในประเทศได้ และยังคาดหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนน CPI ให้คะแนนสูงตามคะแนน ITA ได้เช่นกัน

 

รายการอ้างอิง

คู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ Integrity and Transparency Assessment ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช.

Related