Contrast
Font
9deacda9c85a98266b93080fcf590fa0.jpg

ป.ป.ช. จับตาเลือกตั้ง 66 เน้นย้ำ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องปราศจากการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 98

26/04/2566

ป.ป.ช. เผย ตัวบทกฎหมายที่เป็นกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ยึด “หลักการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ปิดช่องโหว่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง และการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ป.ป.ช. เน้นความโปร่งใส เป็นกลาง และไม่ปล่อยให้คนทุจริตได้ใช้ประโยชน์ทางการเมือง เอื้อต่อการโกงกิน  

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า นอกจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะได้วางกลไกเพื่อป้องกันมิให้นักการเมืองที่ไม่มีธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจบริหารบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยหลักการสำคัญนั้น คือ “การป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์” โดยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 184 และมาตรา 186 ที่ได้กำหนดพฤติการณ์ของการขัดกันแห่งประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อต้องพึงระวังของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ “นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา” เป็นตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐที่ตนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ตนมีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี

โดยในมาตรา 126 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. นี้ เป็นการห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินกิจการต่าง ๆ ดังนี้ 1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ 2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ (ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น) 3) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด (ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น) ทั้งยังห้ามรวมไปถึง คู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสดำเนินการอยู่ก่อนที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเข้ารับตำแหน่ง หากกระทำการฝ่าฝืนมาตร 126 ถือว่ามีความผิด “มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 128  ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด “การฝ่าฝืนกระทำกิจการตามมาตรา 128 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวสรุปว่า  ผู้ที่จะก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับฉันทามติจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ย่อมต้องได้รับการตรวจสอบและต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดย ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบจะยึดหลักที่เป็นกรอบป้องกันการทุจริตจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่า “ผู้แทน” ที่ตนได้เลือกเข้ามาทำหน้าที่ จะมีความโปร่งใส และทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

Related