จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 224
สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 ร่วมกับชมรม STRONG จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เผย ระบบการบริหารจัดการภาครัฐของไทยยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน มีการใช้ดุลยพินิจจากเจ้าหน้าที่รัฐ ง่ายต่อการทุจริต เรียกรับหรือติดสินบน
นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 5 กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นปัญหาที่ฝังลึกในประเทศซึ่งส่วนใหญ่จะมาจาก 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา โดยสามารถควบคุมได้ยาก และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหลายด้าน ที่สำคัญใด้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมาจากปัจจัยหลักของผู้ประกอบการ ที่พยายามลดต้นทุนการจ้างงาน จึงเลือกใช้แรงงานราคาถูก โดยละเลยการคำนึงถึงผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และอาจถูกกีดกันทางการค้าจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องแบกรับภาระงบประมาณภาครัฐในเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งในปี 2564 มีตัวเลขค่ารักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวกว่า 7,000 ล้านบาท ด้านการเมือง ส่งผลต่อความไว้วางใจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเนื่องจากแรงงานต่างด้าวในบางครั้งจะมาจากชนกลุ่มน้อยที่เป็นที่จับตามองทางการเมือง ด้านสังคม จะสังเกตเห็นว่าการรวมตัวของชุมซนแรงงานต่างด้าวในหลายจังหวัด อาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโรคระบาด/โรคติดต่อ รวมทั้งปัญหาภาพลักษณ์ของประเทศจากการที่มีผู้ประกอบการบางรายละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว
สำนักงาน ป.ป.ช.จึงได้มีการประชุมเพื่อสรุปปัญหาจากการศึกษาร่างมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเชียงราย หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง จัดหางานจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สาย ตำรวจภูธรแม่สาย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สาย โดยเป็นการประชุมหารือภายใต้โครงการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ด้วยกลไกสหยุทธ์ (The STRONG Together against Corruption (TaC Team) to enhance Corruption Perceptions Index : CPI) เพื่อร่วมหารือแก้ปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศ
ผลจากการประชุม พบว่าปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเกิดจากนายจ้างคนไทยยังจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมีขบวนการลักลอบพาแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ ทั้งนี้ ระบบการบริหารจัดการภาครัฐของไทยยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาการทุจริต การเรียกรับหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนเพราะประเทศไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป