Contrast
Font
0e95ef5dfc17fbcd76a2740537a7e415.jpg

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นธรรม โปร่งใส ประชาชนและผู้ประกอบการมีส่วนร่วม

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 211

25/04/2566

สำนักงาน ป.ป.ช. สร้างความตระหนักในการลดปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เผย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 หมวด 2 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริตและแนวทางและวิธีการในการดำเนินงานตามโครงการข้อตกลงคุณธรรม เน้น การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการและประชาชน ปิดช่องโหว่การทุจริต

 

         นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า  ในแต่ละปีส่วนงานราชการมีงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างมากกว่าแสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่จัดสรรมาเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ แต่มักมีข้อกังวลหรือพบข้อพิรุธในการบวนการจัดซื้อ     จัดจ้างหลายโครงการ ที่ถึงแม้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องปฏิบัติ 8 ขั้นตอน คือ (1) การกำหนดความต้องการ หรือเป้าหมายของการดำเนินงาน (2) การตั้งงบประมาณ โดยมีความสอดคล้องกับมูลค่าของเนื้องาน (3) การกำหนด Term of Reference (TOR) หรือที่เรียกว่าขอบเขตของงาน ซึ่งจะต้องระบุรายละเอียดงานอย่างเพียงพอให้ผู้ที่สนใจเสนอราคาสามารถนำไปประเมินราคางานได้ (4)การออกประกาศประกวดราคา โดยเป็นการประกาศสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วไป เช่น ในเว็บไซต์ เป็นต้น (5) การเสนอราคา คือ การกำหนดวัน เวลา ให้มีการเสนอราคา (6) การพิจารณาและตัดสิน โดยคณะกรรมกพิจารณาผลการคัดเลือกผู้รับจ้าง ว่าผู้เสนอราคาใดเหมาะสมที่จะเป็นผู้ชนะการเสนอราคา (7) การส่งมอบและติดตั้ง เป็นขั้นตอนของการดำเนินงานตามเนื้องานที่ระบุใน TOR แล้วจึงส่งมอบงานตามที่กำหนดให้แก่หน่วยราชการ และ (8) การจ่ายเงิน โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จะพิจารณาตรวจรับงานว่าตรงตามที่กำหนดไว้หรือไม่ แล้วจึงจะทำความเห็นเสนอให้อนุมัติจ่ายค่าจ้างต่อไป

ทั้งนี้ แม้จะมีกฎหมาย ระเบียบ และวิธีปฏิบัติของทางราชการ เพื่อให้การจัดจ้างมีความรัดกุม ปลอดการทุจริต แต่ก็ยังพบเห็นการทุจริตได้ ซึ่งภาครัฐได้เห็นถึงความจำเป็นนี้และเห็นว่ากฎหมายต้องมีการปรับปรุงให้เท่าทันต่อการทุจริตมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการตรา “พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560” จึงได้มีการกำหนด “หมวด 2 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต” ขึ้น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานของรัฐ โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่การจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) จนถึงสิ้นสุดโครงการ รวมทั้งให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้เสนอราคา และผู้สังเกตการณ์จัดทำบันทึกข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งถือเป็นการให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลสร้างความโปร่งใส ส่งเสริมความเป็นธรรม ป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

เนื้อหาสาระที่สำคัญของหมวด 2 ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้แก่

มาตรา16 ที่มีประเด็นหลักในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มีบทบาทเป็นผู้สังเกตการณ์ในขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐภายใต้หลักความโปร่งใส

มาตรา 17 อาจกำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริต

มาตรา 18 การจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คือ “ข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ ผู้ประกอบการที่ยื่นข้อเสนอและผู้สังเกตการณ์”

มาตรา 19 เป็นประเด็นสำคัญที่ให้ผู้ประกอบการที่คุณสมบัติตามที่กำหนด ก่อนยื่นข้อเสนอจะต้องทำมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสมขององค์กร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ

ซึ่งจากการดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นหลักในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนี้ จึงเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการต่อต้านการทุจริต เพื่อที่จะควบคุมดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานรัฐ ไม่ให้ตกอยู่แก่บุคคลที่ทุจริต โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการเป็นหูเป็นตาและร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

Related