จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 419
วันที่ 20 เมษายน 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 51 แห่ง โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยาน และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การยกระดับธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ” ณ สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ)
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานในพิธี กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือสามฝ่าย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับค่าคะแนน ITA และลดเรื่องร้องเรียนการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจ (พ.ศ. 2562 - 2565) ขับเคลื่อน และขยายผลบันทึกข้อตกลงความร่วมมือตามแนวทางที่ระบุไว้ครบถ้วนแล้ว โดยผลการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสามฝ่าย ในภาพรวมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยผลคะแนนย้อนหลังสี่ปี คือ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2565 อยู่ในระดับ A มีช่วงคะแนน อยู่ระหว่าง 85 - 94.99 คะแนน
ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการป้องกันการทุจริตมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งลดปริมาณเรื่องร้องเรียนการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจให้ลดน้อยลง เนื่องจากยังพบว่าล่าสุดในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนจำนวน 324 เรื่อง และพบว่าคำกล่าวหาสูงสุดสามอันดับแรก คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารงานบุคคล ซึ่งต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ไม่เสี่ยงต่อการเกิดทุจริต ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาให้ทุกองค์กรใช้หลักธรรมาภิบาล เพื่อช่วยสกัดกั้น และลดความเสี่ยงต่อการทุจริต
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม โดยเพิ่มสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ร่วมลงนามด้วย เพื่อร่วมขับเคลื่อนเรื่องธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลในภาครัฐวิสาหกิจโดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง นำแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในภาครัฐวิสาหกิจ (พ.ศ. 2566 - 2570) ไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลัก “Apply or Explain” คือการนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละหน่วยงาน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปี พ.ศ. 2570 เรื่องร้องเรียนการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจจะลดน้อยลง ภายใต้การบริหารกิจการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
.................................................................................