Contrast
Font
668dfa321cc6e6f679fa71f8bc52190f.jpg

ป.ป.ช. ชื่นชมภาคเอกชนยึดหลักบรรษัทภิบาล ชวนร่วมโครงการ CAC ต้านทุจริต

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 110

25/04/2566

สำนักงาน ป.ป.ช. ชื่นชมภาคเอกชนร่วมมือ สร้างโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต มุ่งขับเคลื่อนหลักบรรษัทภิบาล หลักการตรวจสอบภายใน ยึดมั่นในความโปร่งใส ห่างไกลทุจริต คอร์รัปชัน

          โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Coruption) หรือ CAC เป็นโครงการที่มุ่งนำผู้ประกอบการภาคเอกชนมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นบรรษัทภิบาล ต่อต้านการทุจริต โดยความร่วมมือจากภาคเอกชนไทย 8 องค์กรชั้นนำที่ร่วมจัดตั้ง ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD), หอการค้าไทย, หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT), สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมภาคเอกชนสร้างกระแสต่อต้านการคอร์รัปชันโดยสมัครใจ ซึ่งมีหัวใจหลักของโครงการ คือ 1.เปลี่ยนทัศนคติผู้นำภาคธุรกิจ ให้ปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ 2.ผักดันให้ภาครัฐปรับปรุงกระบวนการทำงานให้โปร่งใส ยอมรับการมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ 3.ส่งเสริมและขยายเครือข่ายการประกอบธุรกิจที่สะอาดปราศจากการผูกขาดหรือซื้อความได้เปรียบจากเงินสินบน

          ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ CAC จะได้รับความเชื่อมั่นจากภายนอกว่าเป็นองค์กรที่ยึดหลักความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ยึดหลักบรรษัทภิบาล ทำให้เกิดความเชื่อถือเชื่อมั่นในการดำเนินงานของธุรกิจ รวมทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้บริษัทมีโอกาสได้เป็นคู่ค้ากับบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการประกอบธุรกิจที่โปร่งใส ทั้งยังลดความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

          สำหรับภาคเอกชนที่สนใจมาร่วมในโครงการต้องดำเนินการสำคัญ ได้แก่ ประกาศนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และสร้างระบบป้องกันการจ่ายสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบโดยผ่านการสอบทานจากบุคคลที่สาม รายละเอียดการเข้าร่วมแยกตามขนาดขององค์กร ประกอบด้วย บริษัทขนาดใหญ่ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการสามารถทำแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน จำนวน 71 ข้อ ที่ www.thai-cac.com ส่วนของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ได้เป็นบริษัทลูกของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้ต่อปีไม่เกินหนึ่งพันล้านบาท จะเป็นการเข้ากรอบโครงการ CAC SME Certification และทำแบบประเมิน SME Check List จำนวน 17 ข้อ ทางเว็บไซต์ www.cac-sme.com

          สำนักงาน ป.ป.ช. เล็งเห็นว่าความร่วมมือของภาคธุรกิจในการร่วมแสดงเจตจำนงค์ต่อต้านการทุจริตนี้  จะเป็นก้าวสำคัญยิ่งที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการลดทุจริตและการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐได้ เพราะเมื่อไม่มีผู้ให้สินบนแล้ว โอกาสของการรับสินบนก็จะลดน้อยลงนั่นเอง

Related