Contrast
Font
4f0bbbe3148630fe59c49a58c86a00e5.jpg

ครม.รับทราบมาตรการปรับเกณฑ์ราคากลางรถดัดแปลง ตามข้อเสนอ ป.ป.ช. มอบหน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาข้อมูล

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 127

25/04/2566

ป.ป.ช. เสนอ ครม.ปรับเกณฑ์ราคากลางรถดัดแปลง หลังจัดซื้อมาแล้ว 1,721 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 8,634 ล้านบาท พบ TOR เอื้อประโยชน์ กำหนดราคากลางสูงเกินความเป็นจริง กระบวนการเสนอราคาเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกันหมุนเวียนเป็นผู้ชนะ ด้าน ครม.รับทราบมาตรการปรับหลักเกณฑ์ราคากลาง แต่ยังติดข้อโต้แย้งจากหน่วยงานรัฐ โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูล ด้าน ป.ป.ช. หวังเป็นมาตรการป้องกันช่องโหว่ทุจริต

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า รถดัดแปลงถูกนำมาใช้ในส่วนราชการหลายประเภท เช่น รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกขยะมูลฝอย และรถดูดสิ่งปฏิกูล เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดซื้อกันมาแล้ว 1,721 โครงการ มูลค่า 8,634 ล้านบาท แต่มีข้อสังเกตที่ สำนักงาน ป.ป.ช.จับตามองคือ สเปคในการจัดซื้อ หรือ TOR มีการเอื้อประโยชน์กำหนดราคากลางสูงเกินควร รายละเอียดที่อยู่ใน TOR ก็เป็นรายละเอียดที่ส่วนราชการนำมาจากเอกชนทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันในการประกวดราคา กระบวนการเสนอราคาเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกันหมุนเวียนเป็นผู้ชนะ มีการเสนอราคาอยู่ในช่วงเดียวกัน พบการจัดซื้อสูงกว่าราคาตลาด การเข้าเสนอราคาอาจไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขัน โดยร่วมเสนอราคาอยู่ในช่วงเดียวกัน ส่วนต่างของราคาใกล้เคียงกันมาก และพบว่าการจัดซื้อรถดัดแปลงมีราคาแพงสูงกว่าราคาจากโรงงาน 29% และมีกำไรจากการประมูล 52% ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด และมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าช่องโหว่ในการจัดซื้อรถดัดแปลงนี้ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดทำข้อเสนอมาตรการ “การกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง” ไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ครม.ได้รับทราบมาตรการดังดล่าวแล้ว โดยกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าว เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตในการจัดซื้อรถดัดแปลง ดังนี้ 1. การจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง ให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ ราคาต้นทุน และผลตอบแทนตามปกติทางการค้า ได้แก่ พิจารณาต้นทุนและอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และภาษี การจดประกอบที่เกี่ยวข้องกับรถดัดแปลงให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งการศึกษาลักษณะงานที่มีความจำเป็นของรถดัดแปลงการกำหนดราคามาตรฐานรถดัดแปลง 2.การพิจารณาข้อมูลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้อ้างอิงบัญชีมาตรฐานได้ 3. การตรวจสอบเชิงรุกเพื่อป้องกันการสมยอมราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถดัดแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง 4. การนำข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตาม การปฏิบัติตามอนุสัญญา UN ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 และข้อเสนอแนะจากคู่มือ พิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐ จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในตอนท้ายว่า แม้ว่า ครม.จะมีมติรับทราบมาตรการดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีหน่วยงานรัฐบางแห่งที่มีข้อสังเกต เช่น อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐเนื่องจากอาจมีการยื่นอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง หรืออาจทำให้โครงการจัดซื้อรถดัดแปลงเกิดการหยุดชะงัก เป็นต้น ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานที่เสนอมาตรการเห็นว่า ภาครัฐต้องร่วมกันปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์แก่รายใดรายหนึ่ง และใช้งบประมาณแผ่นดินให้มีความคุ้มค่าไม่รั่วไหล ในระยะแรกอาจมีข้อติดขัดอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวเมื่อการจัดซื้อของภาครัฐปลอดการทุจริต ย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และยังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนนานาชาติในฐานะเป็นประเทศที่มีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่โปร่งใสอย่างแน่นอน

Related