Contrast
Font
3da672643fc503274703f40e08fa6531.jpg

สำนักงาน ป.ป.ช. ตอกย้ำ "STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต" สร้างพลัง “คน” เป็นแนวร่วมต้านทุจริตครอบคลุมทั่วประเทศ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 129

11/04/2566

ป.ป.ช. ชื่นชมเครือข่าย STRONG เป็นหูเป็นตา เฝ้าระวัง สร้างแนวร่วมต้านทุจริตได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมเน้นย้ำ ความสำเร็จของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้พลัง “คน” เป็นพลังขับเคลื่อนสร้างวัฒนธรรมไม่ทนต่อการทุจริตต่อไป

โครงการ "STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต" เป็นโครงการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ที่มุ่งปรับฐานความคิดทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม ส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านทุจริต ประยุกต์หลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต และเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน และบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านการทุจริต

ที่ผ่านมา กลไก STRONG มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยขับเคลื่อนการทำงานผ่านชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ที่ในอดีตจะเน้นการรวมตัวกันของภาคประชาชนกลุ่มก้อนเล็ก ๆ  แต่ปัจจุบันได้ขยายไปสู่กลไกการสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชน โดยมีเครือข่ายชมรม STRONG  เข้ามามีส่วนร่วมในการจับตามอง และแจ้งเบาะแส (Watch & Voice) โดยเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ เพื่อสังเกตกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตหรือกรณีการขัดกันของผลประโยชน์ จากนั้นสมาชิกจะร่วมกันจับตามองประเด็นความเสี่ยงดังกล่าว หากพบการทุจริตก็สามารถแจ้งเบาะแสต่อสำนักงาน ป.ป.ช. หรือในกรณีเป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ก็สามารถส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ดังจะเห็นได้จากหลายกรณีที่มีการตรวจสอบ หรือร้องเรียน ส่วนหนึ่งมาจากพลังการขับเคลื่อนของชมรม ฯ

ปัจจุบันมีชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ครอบคลุมพื้นที่ 262 อำเภอ จาก 878 อำเภอทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.พ. 66) โดยเครือข่ายมีทั้งในระดับประชาชนและระดับเยาวชนโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ประยุกต์และบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับสร้างความโปร่งใสและการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม ตระหนักรู้ถึงปัญหาและภัยจากการทุจริต ทั้งยังมีการพัฒนาคลังเครื่องมือป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Toolbox) ซึ่งเป็นการรวบรวมเครื่องมือและนวัตกรรมสำหรับการป้องกันการทุจริตที่ผู้เข้าร่วม STRONG ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th/anticorruptiontoolbox

Related