จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1574
ป.ป.ช.เน้นย้ำ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ควรยึดหลัก No Gift Policy เพื่อป้องกันความเสี่ยงทุจริตเข้าข่ายรับสินบน พร้อมเผยคดีกรณีศึกษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาปรับอดีต รมว.มหาดไทย จำนวน 120,000 บาท คดีรับตั๋วเครื่องบินจากบริษัท อีสท์วอเตอร์ เดินทางไปเรื่องส่วนตัว วงเงินเกิน 3,000 บาท ทั้งที่ไม่ใช่บอร์ดบริษัทฯ
สำหรับกรณีคดีดังกล่าว จำเลยผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จาก บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักในนาม บริษัท อีสท์วอเตอร์ ซึ่งมิได้มีความผูกพันเป็นญาติ โดยเป็นการรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน คิดเป็นมูลค่า 39,300 บาท และรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย คิดเป็นมูลค่า 20,780 บาท ซึ่งเป็นการรับทรัพย์สินที่มีราคาเกินกว่าสามพันบาทอันมิใช่ทรัพย์สิน และประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย ทั้งมิใช่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103, 122 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 128, 169, 194
ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 122 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากให้ลงโทษปรับกระทงละ 60,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 120,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการรับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของจากผู้อื่นของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมีความผิด เพราะว่าทรัพย์สินที่รับมาอาจเป็นการจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ซึ่งปัจจุบันเพื่อวางกรอบป้องกันปัญหาการรับสินบนนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 และต่อมาได้มีการประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2565 โดยระเบียบดังกล่าวได้กำหนดห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลในครอบครัวให้หรือรับของขวัญระหว่างผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ตลอดจนห้ามไม่ให้บุคคลข้างต้นรับของขวัญจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ซึ่ง “ของขวัญ” ที่กำหนดตามระเบียบฯ นั้น ใกล้เคียงกับระเบียบเดิม แต่ให้หมายรวมถึงประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เช่น การให้สิทธิพิเศษซึ่งไม่ใช่เป็นสิทธิที่จัดไว้สำหรับบุคคลทั่วไป ในการได้รับการลดราคาทรัพย์สินหรือการได้รับบริการ หรือการได้รับการฝึกอบรม หรือการได้รับความบันเทิงตลอดจนการออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือการท่องเที่ยว ค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือสิ่งอื่นใด ในลักษณะเดียวกัน รวมถึงการให้บัตร ตั๋ว หรือหลักฐานอื่นใด การชำระเงินให้ล่วงหน้าหรือการคืนเงินหรือสิ่งของให้ภายหลัง นอกจากนี้ ได้เพิ่มบทนิยามของทรัพย์สินที่ให้เป็นของขวัญ นอกจากจะหมายถึงทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย