จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 184
สำนักงาน ป.ป.ช. ตอกย้ำประโยชน์จากการประเมิน ITA เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน โดยเน้นย้ำว่า “ITA ไม่ใช่แค่เรื่องนามธรรม แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเสี่ยงทุจริต” เพราะสามารถลดใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐให้น้อยลง สร้างความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือที่เข้าไปตรวจสอบว่าหน่วยงานภาครัฐได้มีการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการ ทางสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็จะช่วยในการสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ที่ผ่านมาอาจมีการตั้งข้อสังเกตว่าการประเมิน ITA เพื่อวัดความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ จะสามารถวัดผลได้อย่างไรว่าช่วยลดการทุจริตได้จริง เนื่องจากความสุจริต โปร่งใส มองดูคล้ายเป็นนามธรรม แต่ในความเป็นจริงการประเมิน ITA ได้มีตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่ช่วยผลักดันให้การประเมินผล สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการประเมิน ITA ยังเป็นเครื่องมือที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินและขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนโครงการของรัฐ หากจะมองในเรื่องของผลลัพธ์ว่าจะสามารถลดการทุจริตได้หรือไม่นั้น ก็สามารถกล่าวได้ว่า ITA เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งผลทางอ้อมไปสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล และลดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบให้น้อยลงได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ลดน้อยลง จะเห็นได้ชัดเจนผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนาหน่วยงานตามกรอบแบบวัดการเปิดเผยข้อมูล หรือ OIT ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบการประเมินนี้ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ในด้านความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในแง่การป้องกันการทุจริต การเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้วย เช่น ช่วยให้การปฏิบัติงานหรือการให้บริการมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ลดการใช้ดุลยพินิจ ,ช่วยลดโอกาสทุจริตให้น้อยลง เพราะมีระบบที่สามารถควบคุมตรวจสอบได้ ,ช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชนผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประชาชนสามารถเข้าถึงภาครัฐได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น
สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า การประเมิน ITA คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถช่วยสร้างความสุจริต โปร่งใสให้กับหน่วยงานภาครัฐ เพราะ ITA ไม่ได้เป็นเรื่องนามธรรม หรือไกลตัวประชาชน โดยผลที่ได้จากการที่หน่วยงานภาครัฐได้พัฒนาการดำเนินงานตามกรอบการประเมิน ITA จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงานและให้บริการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนที่เคยติดต่อกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ร่วมประเมิน ITA ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในส่วนที่ 2 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก หรือ EIT (External Integrity and Transparency Assessment) ได้ที่ https://itas.nacc.go.th/ ได้ตั้งแต่บัดนี้ – 31 กรกฎาคม 2566