จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 170
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร รับเรื่องจากศูนย์ CDC พบประเด็นเป็นข่าว โครงการก่อสร้างสถานีจุดบริการน้ำแร่ บ้านคำชะอี หมู่ที่ 1 อำเภอคำชะอี “ใช้งานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ” เผย เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเป็นงบประมาณที่หน่วยงานต้องจัดสรร ไม่ควรเป็นเหตุผลที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน
นายนิรุท สุขพ่อค้า ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีได้รับแจ้งข้อมูลเบาะแสการทุจริตจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center) หรือ ศูนย์ CDC กรณีปรากฏข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์เฟสบุ๊ค “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสถานีจุดบริการน้ำแร่ บ้านคำชะอี หมู่ที่ 1 อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ว่าใช้งานไม่ได้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้า
จากการลงพื้นที่พบว่า เดิมโครงการดังกล่าวมีสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลที่ 10 อุดรธานี เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ ในการสำรวจขุดบ่อน้ำบาดาล และจัดจ้างเอกชนในการก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตน้ำ และเมื่อมีการดำเนินโครงการแล้วเสร็จในวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลที่ 10 อุดรธานี ได้มีการโอนสถานีจุดบริการน้ำแร่ดังกล่าวให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี เป็นผู้บริหารจัดการ ดูแลรับผิดชอบและบำรุงรักษา โดยสถานีจุดบริการน้ำแร่ดังกล่าวสามารถผลิตน้ำสำหรับแจกจ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค แก่ประชาชนในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอีได้
ทั้งนี้ในการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า อบต.คำชะอี ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณในการชำระค่าไฟของสถานีจุดบริการน้ำแร่ดังกล่าวแต่ประการใด และมีการตั้งงบประมาณไว้เพียงพอสำหรับชำระค่าไฟในแต่ละเดือน ซึ่งกรณีที่เกิดปัญหาความเข้าใจผิดว่าไม่มีงบประมาณในการชำระค่าไฟเป็นเหตุให้ไม่สามารถผลิตน้ำแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ได้นั้น อาจมีสาเหตุมาจากกรณีที่ระบบกำลังการผลิตน้ำสำหรับบริโภค มีขีดความสามารถในการผลิตน้ำได้เพียงปริมาณ 500 ลิตร ต่อชั่วโมงเท่านั้น หากในช่วงเวลาใดที่ประชาชนนำอุปกรณ์หรือภาชนะมาบรรจุน้ำพร้อม ๆ กันจำนวนมาก เครื่องก็อาจไม่สามารถผลิตน้ำเข้าสู่ถังจ่ายน้ำได้ทันต่อปริมาณความต้องการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตและจ่ายน้ำเข้าถังใหม่ให้เต็ม ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ จึงอาจเป็นสาเหตุให้ประชาชนเข้าใจว่าเครื่องผลิตน้ำเสีย หรือไม่สามารถจ่ายน้ำได้ ส่วนกรณีการชำรุดเสียหายของอุปกรณ์ในโครงการนั้น พบว่า ก่อนหน้านี้อุปกรณ์สูบน้ำหรือ ซัมเมอร์สที่ใช้สูบน้ำจากบ่อบาดาลจำนวน 2 ตัว ได้เกิดความชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ แต่เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 องค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี ได้ดำเนินการเปลี่ยนซ่อมแซมอุปกรณ์ซัมเมอร์สให้สามารถกลับมาดำเนินการสูบน้ำจากบ่อบาดาลเพื่อนำมาผลิตน้ำได้เป็นปกติแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และสามารถใช้งานได้มาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร ได้ให้ข้อแนะนำกับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี เกี่ยวกับการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจของประชาชน เช่น การติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำทราบถึงข้อจำกัดของระบบผลิตและจ่ายน้ำในโครงการ ว่าสามารถผลิตและจ่ายน้ำเพื่อการบริโภคได้พียง 500 ลิตร ต่อชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังเช่นที่ผ่านมา และแนะนำให้มีกระบวนการประชาคมของแต่ละหมู่บ้านที่ใช้น้ำจากโครงการดังกล่าว เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กติกา ในการมารับแจกจ่ายน้ำเพื่อการบริโภคจากสถานีจุดบริการน้ำแร่ดังกล่าว เช่น การกำหนดช่วงเวลาในการมารับน้ำ ฯลฯ เพื่อให้การบริการแก่ประชาชนเป็นไปได้อย่างราบรื่น และไม่ให้เกิดข้อครหาที่เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบในอนาคต