Contrast
Font
d72a1828d719c502554773918b959300.jpg

ป.ป.ช.ย้ำ เจ้าหน้าที่รัฐพึงยึดหลักธรรมาภิบาล อย่าอาศัยวิกฤตเพื่อโอกาส เผย ชี้มูลอดีต อบจ.มหาสารคาม จัดซื้ออุปกรณ์เวชภัณฑ์ป้องกันโควิด โดยมิชอบ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1306

27/08/2566

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม พร้อมพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส      โคโรน่า (Covid – 19) โดยมิชอบ พร้อมเน้นย้ำ เจ้าหน้าที่รัฐพึงตระหนักถึงหลักธรรมาภิบาล ไม่อาศัยเหตุการณ์วิกฤต เบียดบังประโยชน์ของประชาชน เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น กรณีกล่าวหา นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม พร้อมพวก ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid – 19) โดยมิชอบ

          ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อเดือนเมษายน 2563 นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ไปก่อน หลังจากนั้นจึงจัดประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการและงบประมาณ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำเอกสารรายงานขอซื้อวัสดุอุปกรณ์โดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยมีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐภายใน อบจ. อีกหลายคน นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ ได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ จำนวน 3 ฉบับ วงเงินรวม 7,360,000 บาท โดยสัญญา

ฉบับที่ 1 จัดซื้อวัสดุ จำนวน 6 รายการ จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร โดยมีอุปกรณ์ 3 รายการที่มีราคาสูงกว่าปกติ ได้แก่ หน้ากากอนามัยชนิดผ้า 2 ชั้น ตามสัญญาจัดซื้อจำนวน 120,000 ชิ้น ๆ ละ 15 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาโหลละ 49 บาท คิดเป็นชิ้นละ 4.08 บาท ชุดสวมป้องกันฝุ่นและของเหลว ตามสัญญาจัดซื้อ 3,600 ชุด ๆ ละ 310 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาชุดละ 140 บาท และสเปรย์แอลกอฮอล์ 75% ตามสัญญาจัดซื้อ จำนวน 10,000 ขวด ๆ ละ 120 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาขวดละ 118 บาท  จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,942,400 บาท

ฉบับที่ 2 จัดซื้อวัสดุ จำนวน 1 รายการ จากบริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด คือ น้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสโควิด - 19 จำนวน 400 แกลลอน ๆ ละ 3,040 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาแกลลอนละ 2,625 บาท จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ จำนวน 1,050,000 บาท

ฉบับที่ 3 จัดซื้อวัสดุจำนวน 1 รายการ จากร้านมาร์จิ้น เทรดดิ้ง คือ เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด จำนวน 350 เครื่อง ๆ 3,900 บาท  ช่วงเกิดเหตุ มีราคาเครื่องละ 1,350 บาท จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ จำนวน 892,500 บาท รวม 3 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้น 3,884,900 บาท

อีกทั้ง ในการเบิกจ่ายเงินค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้ขาย พบว่า เจ้าหน้าที่ได้จ่ายเช็คโดยมิได้ให้ผู้รับเช็คลงลายมือชื่อรับเช็คในรายงานการจัดทำเช็ค และต้นขั้วเช็ค ด้วย

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้ การดำเนินการทางอาญาและทางวินัย ในการกระทำของนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดเป็นการจงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 77 วรรคสาม

          รวมทั้งผู้ที่ร่วมกระทำผิดก็ได้รับโทษตามกรรมต่างวาระเช่นกัน เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร และบริษัทสยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่รัฐก็มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91

          ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร และบริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย

 

 

 

 

 

 

Related