Contrast
Font
49d366a0d4165da96068ff6af091c9c9.jpg

ป.ป.ช. ไขข้อสงสัยใช้ ITA ประเมินและยกระดับการทำงานภาครัฐ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 205

15/09/2566

ป.ป.ช. ไขข้อสงสัยใช้ ITA ประเมินและยกระดับการทำงานภาครัฐ

สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าไขข้อสงสัยใช้ ITA ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรในการปฏิบัติงานให้ตอบสนองการบริการต่อประชาชน และยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของภาครัฐ

      

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัยนและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...) เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับ “ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกแทรกซึมอยู่ทุกซอกหลืบในสังคม ทั้งกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และประชาชน ที่ปัญหาจะปรากฏเป็นข่าวให้เห็นบ่อยขึ้น ซี่งมีให้เห็นตั้งแต่ ระดับเล็กๆ เรียกรับสินบนจากผู้ติดต่อในส่วนราชการ ระดับกลาง กรณีคนติดต่อส่วนราชการในระดับธุรกิจก็มักถูกเรียกเงินใต้โต๊ะแลกกับการอนุมัติมากขึ้น ไปถึง “คอร์รัปชันขนาดใหญ่เป็นรูปแบบลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือพวกพ้องได้เปรียบคนอื่นๆ มีหลายกรณีที่ข้าราชการระดับสูงเรียกรับเงินสินบนค่าซื้อตำแหน่งจากผู้ใต้บังคับบัญชา ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป.ป.ป. และสำนักงาน ป.ป.ช. วางแผนจับกุมพร้อมของกลาง และบัญชีรายชื่อช่องทางการจ่ายเงินสินบนในทางทุจริต

ป.ป.ช. ได้ทำการประเมินไอทีเอ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ ป.ป.ช.พัฒนาขึ้นมาเป็นกลไกในการประเมินการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์มากกว่ามุ่งจับผิดเสมือนเป็นเครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กรประจำปี เพื่อให้รู้ช่องว่างความไม่เป็นธรรมและความไม่โปร่งใส อันจะนำไปสู่การป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการไทย โดยไอทีเอยังได้ประเมินประสิทธิภาพ การให้บริการแก่ประชาชนเพื่อให้รับรู้ถึงสถานะ และปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้น และยังจะช่วยให้หน่วยงานของภาครัฐสามารถนำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้บริการตอบสนองต่อประชาชนเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานภาครัฐ

สำหรับปีนี้ “มีหน่วยงานรัฐทั่วประเทศเข้าร่วมประเมิน 8,323 หน่วยงาน” ได้เก็บข้อมูลตัวอย่าง 1 ล้านกว่าคน แบ่งเป็นบุคลากรจากหน่วยงานรัฐ 4.2 แสนคน ใช้เครื่องมือแบบวัดไอไอทีประเมิน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.) การปฏิบัติหน้าที่ 2.) การใช้งบประมาณ 3.) การใช้อำนาจ 4.) การใช้ทรัพย์สินของราชการ และ5.) การแก้ไขปัญหาการทุจริต แล้วคะแนนจะคิดเป็น 30 คะแนน จาก 100 คะแนน และผู้ตอบต้องยืนยันตัวตนผ่าน OTP ระบุ Code ของหน่วยงานให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการนำบัตร ปชช.มาลงแทน

ถัดมาเป็นส่วนของ “ประชาชนผู้บริการ 5.8 แสนคน” เก็บตัวอย่างด้วยเครื่องมือวัดอีไอที (EIT) 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.) คุณภาพการดำเนินงาน 2.) ประสิทธิภาพการสื่อสาร และ 3.) ปรับปรุงระบบการทำงาน สุดท้ายประเมินจากการเปิดเผยข้อมูลภายในแบบโอไอที (OIT)

อย่างไรก็ตาม การวัดผลจาก ITA ก็เป็นเสมือนการเปิดโอกาสให้ประชาชนและบุคลากรที่ปฏิบัติงาน สะท้อนบอกช่องว่างของความไม่เป็นธรรม และความด้อยประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐผ่านการวัดผลจาก ITA อันจะกลายเป็นตัวผลักดันให้ “รัฐบาล” สนับสนุนพัฒนาให้หน่วยงานนั้นตอบสนองการบริการแก่ประชาชนได้ตรงจุดดีขึ้น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก มักมีข้อจำกัดความไม่พร้อมของงบประมาณ และบุคลากร แต่ว่าจากนี้คะแนน ITA จะเป็นตัวส่งเสริมให้หน่วยงานต้นสังกัดเข้าไปดูแลจุดอ่อนนั้นตามมา      

นายนิวัติไชย กล่าวต่อไปว่า ความจริง ITA เป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้รู้จักตัวเอง “รู้จักปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่บางครั้งหน่วยงานรัฐมักมองไม่เห็นตัวเอง เลยต้องให้ประชาชนสะท้อนปัญหาผ่านระบบประเมิน ITA เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบริหารของผู้นำองค์กร มักจะถูกนำมาเปรียบเทียบจากหน่วยงานในจังหวัดเดียวกัน ทำให้ในปัจจุบัน ITA ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งอีกด้วย

เครื่องมือวัดผล ITA นี้ยังถูกยอมรับและถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ อย่างในเกาหลีใต้ก็ถูกนำไปประเมินด้านคุณธรรมการดำเนินงานของประเทศ ก่อนปรับมาใช้ใน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ภูฏาน มองโกเลีย คูเวต กาตาร์ และประเทศไทย

ในปี 2566 นี้ ป.ป.ช.จะเปิดเผยผลประเมินทั้งหมด ไม่ว่าเป็นคะแนนรวม คะแนนรายเครื่องมือ ทั้งในแง่มิติความสุจริตโปร่งใสผ่านคำถามการบริการ การจ่ายสินบน ของขวัญกำนัล รวมถึงผลประโยชน์อื่นใดที่แลกมาด้วยการเซ็นอนุมัติอนุญาตในวาระต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข

ถือเป็น การชี้เป้าให้ หน่วยงานรัฐได้นำข้อมูลผลประเมินไปวิเคราะห์แล้วปรับแก้ไขในองค์กรของตน และ การชี้เป้าให้ประชาชนรับรู้ดำเนินการตรวจสอบว่า คะแนนประเมินนั้นตรงตามความจริงมากเพียงใดด้วย ซึ่งยังคงต้องพัฒนาระบบต่อไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพครอบคลุม ที่จะเน้นประเมินหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชัน และยกระบบ CPI มาช่วยตรวจวัดโครงสร้างอำนาจด้วย เพื่อเป็น “แนวทางการเสริมสร้างด้านคุณธรรมและความโปร่งใส ให้หน่วยงานภาครัฐนำไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารราชการ ให้ลดโอกาสในการทุจริตประพฤติมิชอบต่อไป

Related