Contrast
Font
c7b0cc4ec9397ae8d29890601b0a35a2.jpg

สำนักงาน ป.ป.ช. ลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ปีงบประมาณ 2567 วางเป้าหมายต้านคอร์รัปชัน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 737

27/10/2566

สำนักงาน ป.ป.ช. ลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ปีงบประมาณ 2567 วางเป้าหมายต้านคอร์รัปชัน

สำนักงาน ป.ป.ช. ลงนามในคำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วางเป้าพัฒนากระบวนงานเพื่อสร้างความโปร่งใสของประเทศ

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานในพิธีลงนามในคำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยพิธีลงนามครั้งนี้ ได้จัดขึ้นที่ห้องประชุมผู้บริหาร สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมกับผ่านระบบประชุมทางไกล โดย พลตำรวจเอก วัชรพล ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับคำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยาน

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. เน้นความสำคัญกับการพัฒนาระดับองค์กรเพื่อเป็นตัวชี้วัดผลการปฏิบัติราชการตามหน่วยงานภาครัฐทุกระดับชั้น แบ่งออกเป็น 4 มิติของการประเมินผลชี้วัด ITA ประกอบด้วย

(1) มิติที่ 1 เน้นด้านประสิทธิผลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ คิดเป็นน้ำหนักระดับการประเมินผล คือ ร้อยละ 30 แบ่งเป็น ตัวชี้วัดที่ 1 คือ ระดับความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายของ BF (TI), PERC และ WJP (น้ำหนัก ร้อยละ 10) และตัวชี้วัดที่ 2 คือ ระดับความสำเร็จการบรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

          (2) มิติที่ 2 เน้นด้านคุณภาพของการตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คิดเป็นน้ำหนักระดับการประเมินผล คือ ร้อยละ 10 เป็นตัวชี้วัดที่ 3 คือ ระดับความเชื่อมั่นต่อสำนักงาน ป.ป.ช. (น้ำหนัก ร้อยละ 10)

          (3) มิติที่ 3 เน้นด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการ คิดเป็นน้ำหนักระดับการประเมินผล คือ ร้อยละ 40 แบ่งเป็น ตัวชี้วัดที่ 4 คือ ผลิตภาพของการตรวจสอบและไต่สวน (น้ำหนัก ร้อยละ 20) ตัวชี้วัดที่ 5 คือ ผลิตภาพของการตรวจสอบทรัพย์สิน (น้ำหนัก ร้อยละ 10) และตัวชี้วัดที่ 6 คือ ผลิตภาพของการป้องกันการทุจริต (น้ำหนัก ร้อยละ 10)

          (4) มิติที่ 4 เน้นด้านการพัฒนาองค์กร คิดเป็นน้ำหนักระดับการประเมินผล คือ ร้อยละ 20 แบ่งเป็น ตัวชี้วัดที่ 7 คือ ระดับพัฒนาการขององค์กรและระบบบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (น้ำหนัก ร้อยละ 10) ตัวชี้วัดที่ 8 คือ การพัฒนาการบริหารงานและการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลของสำนักงาน ป.ป.ช. (น้ำหนัก ร้อยละ 10) ซึ่งยังสามารถแบ่งปลีกย่อยได้อีก 2 หลักเกณฑ์ คือ ระดับความสำเร็จและความพึงพอใจในการใช้บริการผ่านระบบดิจิทัลของสำนักงาน ป.ป.ช. (น้ำหนัก ร้อยละ 6) และ ระดับการพัฒนาการบริหารงานและการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลของสำนักงาน ป.ป.ช. (น้ำหนัก ร้อยละ 4)

           โดยในการลงนามบันทึกคำรับรองการปฏิบัติราชการ ครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังผลการประเมินโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการที่สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการเอง ทั้งนี้ จะมีการติดตามและรายงานความคืบหน้าและความสำเร็จจากทุกโครงการที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการ เป็นแบบรายเดือนและไตรมาส เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารจัดการและการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจะต้องระบุถึงอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน ตลอดจนสาเหตุที่แท้จริงและทางออกในการดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว และต้องพร้อมจะช่วยผลักดันการยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ให้สูงขึ้น อีกทั้งยังต้องปลุกจิตสำนึก การปลูกฝังคุณธรรม วัฒนธรรมและพฤติกรรมซื้อสัตย์สุจริตในองค์กรและหน่วยงานของรัฐ เช่น หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ การสร้างเครือข่ายสนับสนุนการต่อต้านการทุจริต การกำหนดมาตรการ กลไก นวัตกรรมใหม่ ๆ การบูรณาการเชิงป้องกันเพื่อยับยั้งการทุจริต และข้อเสนอเชิงมาตรการต่อรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติการของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่เน้นความซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

Related