Contrast
Font
5d9457e25c074d2937e95a387cf5c78c.jpg

ป.ป.ช. ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 511

23/11/2566

ป.ป.ช. ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ

สำนักงาน ป.ป.ช. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  เน้นขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ พร้อมกับชู 3 เป้าหมายหลัก สร้างวัฒนธรรมซื่อสัตย์สุจริต มุ่งเน้นแผนป้องกันการทุจริต ทั้งส่วยรถบรรทุก-นมโรงเรียน เร่งดำเนินคดีด้วยความรวดเร็วรอบด้าน

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และให้ทิศทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ที่ห้องนนทบุรี 1 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีความชัดเจน เกิดการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

          เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ได้กำหนดเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริต ไว้ในยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีเป้าหมายให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และได้กำหนดให้มีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกภาคส่วน

          ดังนั้น ในการขับเคลื่อนงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันการแก้ไขปัญหาการทุจริตเรื่องสินบนอย่างจริงจังและเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ ด้วยแนวทางการปฏิบัติการเชิงรุกและการพัฒนาต่าง ๆ ประกอบด้วย       

            (1) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเครือข่ายต่อต้านการทุจริต

            (2) การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายในการเฝ้าระวังแจ้งเบาะแส 

            (3) การพัฒนาเครื่องมือการประเมิน ITA ให้มีความสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

          (4) การพัฒนาและส่งเสริมจริยธรรมทางการเมืองการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ

          (5) การส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำระบบการจัดการ ด้านการต่อต้านการติดสินบน ตามมาตรฐาน ISO 37001 ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน

            นายนิวัติไชย ยังกล่าวต่อไปว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้วางเป้าหมายหลักของแผนงานการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ทั้งทางด้านการพัฒนาคุณภาพคนและการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบ โดยจำแนกออกไว้ 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่

          เป้าหมายที่ 1 การสร้างจิตสำนึกและความร่วมมือจากประชาชนในการสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อน “หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” เกี่ยวกับเรื่องสินบนที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ประชาชน ด้วยการพัฒนาสื่อการเรียนรู้และความเข้าใจเรื่องสินบนที่ทันสมัย สามารถเข้าถึงได้ง่าย พร้อมกับการพัฒนาโครงข่ายต่าง ๆ ตั้งแต่ระบบฐานข้อมูลเครือข่ายต่อต้านการทุจริต ศักยภาพเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส เครื่องมือการประเมิน ITA ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพัฒนาและส่งเสริมจริยธรรมทางการเมือง การส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ตามมาตรฐาน ISO 37001 ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันกำหนดแนวทางจูงใจให้ภาคเอกชนมีมาตรการและมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต

          เป้าหมายที่ 2 การควบคุมและลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนมาตรการและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เช่น ส่วยรถบรรทุก นมโรงเรียน การจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ในอุทยานแห่งชาติ (E-ticket) เป็นต้น การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 การให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการสร้างนวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริต และ

        เป้าหมายที่ 3 การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารและการจัดการคดีทุจริตให้แล้วเสร็จ ภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการผลักดันการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และเผยแพร่สาระสำคัญของกฎหมายให้ประชาชนทราบ เช่น กฎหมายขัดกันแห่งผลประโยชน์ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก การติดตามทรัพย์สินคืน และการปรับปรุงโทษปรับของนิติบุคคลที่กระทำความเสียหายแก่ประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.)

            ทั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวโดยสรุปว่า ในการประชุมในครั้งนี้เป็นการพิจารณาแผนงานและโครงการที่มุ่งเป้าหมาย โดยมีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบอย่างชัดเจน มีการจัดทำบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน มีแนวทางการขับเคลื่อน แผนการดำเนินงานและการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อช่วยกันเติมเต็มมาตรการแก้ไขปัญหาของการทุจริตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้นำมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อกำหนดกรอบแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานและเสนอของบประมาณตามแผนงานบูรณาการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อไป

Related