Contrast
Font
29fcf4802226a035d19103be492ccb65.jpg

ป.ป.ช. เดินหน้าพัฒนาแผนงานต้านทุจริต เพื่อยกระดับค่า CPI ประจำปีงบประมาณ 2567

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 789

24/11/2566

ป.ป.ช. เดินหน้าพัฒนาแผนงานต้านทุจริต เพื่อยกระดับค่า CPI ประจำปีงบประมาณ 2567

สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้ายกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ของประเทศ ด้วยการสานต่อการดำเนินงานพัฒนาทุกแผนงาน “หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา-ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเจ้าหน้าที่รัฐ-การป้องปรามการทุจริตอย่างเข้มข้น” ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรขององค์กร ในปี พ.ศ. 2567

                นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญสำหรับการป้องกันการทุจริตในปี พ.ศ. 2567  คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีแนวทางการดำเนินงานให้สำนักงาน ป.ป.ช. ยังคงขับเคลื่อนในเรื่องของ “หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดยจะต้องมุ่งไปที่การพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในประเทศไทยให้สำเร็จ รวมถึงการเปิดโอกาสของการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการคอร์รัปชัน กับ “โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต” และการยกระดับคะแนน “ดัชนีการรับรู้การทุจริต” (Corruption Perceptions Index: CPI) ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในส่วนของงานด้านการปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. จะเน้นการดำเนินการเรื่องตรวจสอบและไต่สวนให้มีความเป็นระบบและเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และมุ่งเน้นภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องกล่าวหาคงค้าง ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรับเรื่องกล่าวหาร้ายแรงไว้ดำเนินการ เช่นเดียวกับการสานต่อการบูรณาการให้ความร่วมมือในการส่งหรือมอบหมายเรื่องกล่าวหาที่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรง ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อดำเนินการต่อ ด้วยการเตรียมนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการส่งเรื่องกล่าวหาและการกำกับติดตามการดำเนินงาน    

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของภารกิจไต่สวนการทุจริต จะมุ่งเน้นการทำงานที่รวดเร็วและถูกต้อง ไปพร้อม ๆ กับการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการดำเนินงานไต่สวนคดีที่มีการชี้มูลต่าง ๆ จะต้องเป็นไปอย่างความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ขณะเดียวกัน ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และการดำเนินการคดีผู้ที่ร่ำรวยผิดปกติ ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญใน “การป้องปรามการทุจริต” ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับบทลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวและลดการกระทำความผิดและการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐให้ลดลง โดยนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินนั้น ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงคุณภาพ ซึ่งจะต้องจัดลำดับความสำคัญของภาระงาน รวมถึงการเพิ่มความเคร่งครัดในการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

นายนิวัติไชย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ สำนักงาน ป.ป.ช. คือการสานต่องานด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. เอง ที่จะต้องมุ่งเน้นทั้งด้านการพัฒนาระบบการดำเนินงานในทุกภารกิจ และยกระดับคุณภาพบุคลากรในองค์กรให้ทำหน้าที่ด้วยความสุจริต เป็นธรรม และสร้างจิตสำนึกของการไม่ทนต่อพฤติการณ์การทุจริตในหน้าที่ใด ๆ ก็ตาม เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง ด้วยการบูรณาการและขับเคลื่อนองค์กรที่สามารถเป็นที่พึ่งหรือสร้างความเชื่อถือให้กับประชาชน โดยยึดมั่นตามค่านิยมหลักของ สำนักงาน ป.ป.ช. ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้มีความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม

โดยท้ายที่สุด เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวโดยสรุปว่า สำหรับแผนงานและภารกิจสำคัญทั้งหมดของสำนักงาน ป.ป.ช. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น ถือเป็นการสานต่อเจตนารมย์อันสืบเนื่องมาจาก แผนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่กำหนดให้ภาครัฐเชื่อมโยงการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ผ่านการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ผ่านระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่การวิเคราะห์การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในเชิงการปฏิรูปกลไกและกระบวนการต่าง ๆ ของการปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ให้มีความรวดเร็วขึ้น ผ่านการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย มาช่วยพัฒนากลไกการดำเนินงานด้านการป้องปรามการทุจริตอย่างเป็นมาตรฐาน มีแบบแผน และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Related