Contrast
Font
edef0f0f765d3e938b181e0b0b720b0f.jpg

หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา: ค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตในสังคมไทย

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 3079

12/03/2567

          หลายท่านอาจจะคิดว่าการเรียนการสอน กับการป้องกันการทุจริต อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เข้ากัน แต่หากมองถึงปัญหาการทุจริตในปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน การทุจริตเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกแสดงความกังวล อันเนื่องมาจากเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ยากต่อการจัดการ เห็นได้ชัดว่าการทุจริตส่งผลกระทบอย่างมากกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา และควรเป็นปัญหาที่ควรจะต้องรีบแก้ไขโดยเร็วที่สุด การทุจริตในสังคมไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมหาศาลและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติรูปแบบการทุจริต จากเดิมที่เป็นการทุจริตทางตรงไม่ซับซ้อน อาทิการรับสินบน การจัดซื้อ จัดจ้าง ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นการทุจริตที่ซับซ้อนมากขึ้น ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ ทับซ้อน และการทุจริตเชิงนโยบาย

          เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ คืออนาคตและความหวังของประเทศ ที่เราสามารถปลูกฝังความคิดเรื่องการทุจริต ว่าไม่ใช่เรื่องปกติในสังคมควรเริ่มปลูกฝังและสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต เหมือนกับการให้วัคซีนภูมิต้านทานป้องกันโรค มุ่งเน้นตั้งแต่เด็กระดับปฐมวัย จนถึงอุดมศึกษา อันเป็นฐานรากของสังคมในอนาคต เราควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญในกระบวนการปรับสภาพสังคมให้เกิด ภาวะที่ “ไม่ทนต่อการทุจริต” โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในทุกระดับช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต และปลูกฝังความพอเพียง มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต

          แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่มีค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต Corruption Perceptions Index : (CPI) อันดับต้นๆของโลก ยังมีการปลูกฝังการเรียนการสอนให้กับเด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้ความสำคัญในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรมด้านอื่นๆ ระเบียบวินัย ที่เป็นพื้นฐานของความซื่อสัตย์ และเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่ในระดับครอบครัว ผ่านกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรต้านทุจริต หลักสูตรนี้ไม่เพียงแค่สอนให้ผู้เรียนทราบถึงการทำผิด แต่ยังเน้นไปที่การสร้างความภาคภูมิใจในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรต้านทุจริต จะช่วยให้เด็กได้รับการศึกษาที่ถูกต้องและเข้าใจถึงค่านิยมและจริยธรรมที่ถูกรับรู้โดยทุจริต เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ของการกระทำผิด

          ป.ป.ช. จึงได้มีการคิดรูปแบบการสื่อสารลงไปถึงเด็กและเยาวชน ให้รู้ถึงปัญหาของการทุจริต โดยมีคณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรหรือชุดการเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียนรู้ ด้านการป้องกันการทุจริตได้ร่วมกันสร้างหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) ประกอบด้วย 5 หลักสูตร
          1. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต)
          2. หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด “Youngster with good heart”)
          3. หลักสูตรตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ
          4. หลักสูตรสร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และ
          5. หลักสูตรโค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต

          ทั้ง 5 หลักสูตรได้ผ่านกระบวนการนำไปใช้ และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ สำหรับการใช้ในกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรหรือชุดการเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียนรู้ด้านการป้องกันการทุจริตยังได้คัดเลือกสื่อการเรียนรู้ จากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อประกอบการเรียนการสอน ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรอุดมศึกษา ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ทั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของการกระทำทุจริตในลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริต ความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรในแต่ละช่วงวัยของผู้เรียน และ พยายามผลักดันไปทุกจังหวัด ทุกพื้นที่

          ไม่เพียงแค่การสร้างหลักสูตร สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education Platform) ซึ่งแพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษาเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบ Web Application สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน และการอบรมหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาออนไลน์ หรือ E-leaning สามารถเรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาได้ตลอดเวลาผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย รวมถึง Mobile Application และระบบพิพิธภัณฑ์ต้านโกงเสมือนจริง (Virtual Museum) ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน

          สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับสังคม โดยเริ่มจากการปรับกระบวนการคิดของเด็ก และประชาชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) จะสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะให้แก่ผู้เรียนหรือผู้ผ่านการอบรมในเรื่องการคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ความอายและความไม่ทนต่อการทุจริต STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต และพลเมือง กับความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อร่วมกันป้องกันหรือต่อต้านการทุจริต มิให้มีการทุจริตเกิดขึ้นในสังคมไทยร่วมสร้างสังคมไทยที่ไม่ทนต่อการทุจริต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นอย่างยิ่งในการที่จะขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ แต่ลำพังสำนักงาน ป.ป.ช. เพียงองค์กรเดียวไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องอาศัยกลไกความร่วมมือของหน่วยงานการศึกษา ตลอดจนไปถึงสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทุกแห่ง

Related