จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 220
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ทบทวนหลักเกณฑ์-เงื่อนไข ความจำเป็นการจ่ายเงินสินบน-รางวัลเจ้าหน้าที่ศุลกากร มุ่งป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน-ดุลพินิจ ด้าน ครม.รับทราบ พร้อมมอบ กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงาน ปปง. ตร. สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อยุติภายใน 30 วันน
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าวฯ และมีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงการคลังสรุปผลการพิจารณาผลการดำเนินการในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอครม.ต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอต่อ ครม. มีประเด็นสำคัญ อาทิ เสนอให้กระทรวงการคลังศึกษาวิจัยความจำเป็นในการให้เงินรางวัลเพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่และความเป็นไปได้ในการใช้ช่องทางตามระบบการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐในปัจจุบันให้เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่แทนระบบการจ่ายรางวัลจากเงินค่าปรับที่ได้รับ พร้อมทั้งพิจารณาปรับปรุงบัญชีอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัลให้เหมาะสมสะท้อนการมีส่วนร่วมและผลการปฏิบัติงานมากกว่าระดับตำแหน่งเพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและลดการใช้ดุลยพินิจโดยหัวหน้าส่วนราชการ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้กรมศุลกากรจัดทำ “ฐานข้อมูลกลาง” เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ และให้จัดทำข้อมูลเชื่อมโยงถึงที่มาที่ไปของรายการการกระทำความผิด รายการทรัพย์สินที่นำไปสู่การจ่ายเงินสินบนและรางวัล เพื่อประโยชน์ในทางสถิติและการตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนด้วย
ทั้งนี้ จากสถิติในช่วงปี 2554 - 2563 พบว่ากรมศุลกากรมีการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสิ้น 8,679.05 ล้านบาท ประกอบด้วย
ปี 2554 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 1,000.90 ล้านบาท
ปี 2555 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 846.29 ล้านบาท
ปี 2556 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 992.26 ล้านบาท
ปี 2557 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 1,143.43 ล้านบาท
ปี 2558 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 1,107.86 ล้านบาท
ปี 2559 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 1,226.12 ล้านบาท
ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี, ปี 2560 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 914.54 ล้านบาท, ปี 2561 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 905.94 ล้านบาท, ปี 2562 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 266.29 ล้านบาท และปี 2563 มีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 375.37 ล้านบาท