จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 153
ป.ป.ช. ผลักดันกลไกการบูรณาการสร้างแนวร่วมต้านทุจริต
สำนักงาน ป.ป.ช. ขับเคลื่อนการสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ยกระดับการบริหารจัดการทุกภาคส่วนแบบบูรณาการและปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ให้มีมาตรฐานสากล ตอบโจทย์แผนบูรณาการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างเป็นรูปธรรม
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีการขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในด้านการกระตุ้นภาคสังคม ประชาชน การเมือง ให้มุ่งร่วมต้านทุจริต ตลอดจนการลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และตัดวงจรการรับสินบนทุกรูปแบบ ซึ่งกระบวนการทำงานได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ขับเคลื่อนการเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดเป็นแนวร่วมในการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ หน่วยงานภาครัฐอย่างเช่น สำนักงาน ก.พ.ร., กทม. ฯลฯ ในด้านการแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่ครอบคลุมส่วนงานในระดับภูมิภาค สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการดำเนินการโดยสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ซึ่งมีความใกล้ชิดและทราบสภาพปัญหาของการทุจริตในระดับพื้นที่ โดยใช้ผลักดันให้มีการจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน คือ ชมรม Strong – จิตพอเพียงต้านทุจริต เพื่อร่วมเฝ้าระวังการทุจริตในชุมชน อาทิ การสังเกตการณ์การทุจริตอาหารกลางวัน การเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการแจ้งข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่ำรวยผิดปกติ เป็นต้น สำหรับเครือข่าย “ชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต” เป็นโครงการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ที่มุ่งปรับฐานความคิดทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม ส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านทุจริต ประยุกต์หลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต โดยมีเครือข่ายชมรม STRONG เข้ามามีส่วนร่วมในการจับตามอง และแจ้งเบาะแส (Watch & Voice) ไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ดังจะเห็นได้จากหลายกรณีที่มีการตรวจสอบ หรือร้องเรียน ส่วนหนึ่งมาจากพลังการขับเคลื่อนของชมรมฯ ปัจจุบันมีชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ครอบคลุมพื้นที่ 262 อำเภอ จาก 878 อำเภอทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.พ. 66) โดยเครือข่ายมีทั้งในระดับประชาชนและระดับเยาวชนโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ประยุกต์และบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับสร้างความโปร่งใสและการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม ตระหนักรู้ถึงปัญหาและภัยจากการทุจริต