จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 143
ป.ป.ช. เสริมทักษะเจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต และนักสืบสวนคดีทุจริต ยกระดับป้องกันทุจริต โดยใช้เทคโนโลยี TMAC
ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต จัดกิจกรรมการยกระดับการป้องกันเชิงรุกและการสืบสวนการทุจริตด้วยแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ภายใต้โครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานพิธีเปิด และการบรรยายนำ หัวข้อ “การยกระดับประสิทธิภาพการป้องกันทุจริตเชิงรุกและการสืบสวนการทุจริต” ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดแนวทางการจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญจำเป็นในทุกด้านที่เกี่ยวข้องความเสี่ยงต่อการทุจริตสำหรับภารกิจการสืบสวนและการป้องกันการทุจริตทั้งในระดับการปฏิบัติและระดับนโยบาย ตลอดจนผสานพลังการทำงานภายในภารกิจสืบสวนและภารกิจป้องกันการทุจริตในสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนความสำเร็จการต่อต้านการทุจริตร่วมกันผ่านแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในระบบสารสนเทศแผนที่ต่อต้านการทุจริตประเทศไทย TMAC (Thailand Mapping of Anti-Corruption) โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต นักสืบสวนคดีทุจริต
สำหรับโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต เป็นการต่อยอดและยกระดับการต่อต้านการทุจริต ภายหลังจากมีการพัฒนาเครือข่ายในทุกภาคส่วนในการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ ได้แก่ เครือข่ายชมรม STRONG ที่เข้มแข็ง สามารถสร้างกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตจะเกิดเป็นการจับตามองในวงกว้าง ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อมูลเบาะแส ข่าวสาร จำนวนมากที่ทั้งมีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ รวมถึงข้อมูลที่อาจจะยังไม่ได้ถูกเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ แต่มีการจับตามองในพื้นที่ โดยเครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันดำเนินงานร่วมกันกับสำนักงาน ป.ป.ช. ทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูลความเสี่ยงการทุจริตจากต้นน้ำไปสู่การแก้ไขป้องกันด้วยกลไกต่าง ๆ รวมถึงดำเนินคดี ผ่านกระบวนการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้เห็นภาพความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ทั้งการแก้ไขปัญหาการทุจริตผ่านกลไกการบูรณาการความร่วมมือ ผ่านกลไกการบังคับใช้มาตรการป้องกันการทุจริต รวมถึงกลไกการข่าว การสืบสวน และการดำเนินคดี และมีระบบการบันทึกข้อมูลหมุดความเสี่ยงนี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นที่มาของการยกระดับการดำเนินโครงการอีกครั้งหนึ่ง
และในปี พ.ศ. 2567 นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ได้ขยายการดำเนินการลงสู่สำนักงาน ป.ป.ช. ในระดับพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันการทุจริตและเจ้าหน้าที่ด้านสืบสวนคดีทุจริต เป็นผู้วิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยตนเอง รวมถึงผลงานในการติดตาม แก้ไข หรือการดำเนินคดีประเด็นความเสี่ยงเหล่านั้น ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง และระบบสารสนเทศ TMAC (Thailand Mapping of Anti-Corruption) ที่เป็นสารสนเทศที่ใช้หลัก Data Analytic and Visualization แสดงผลในรูปแบบแผนที่ภูมิศาสตร์ มุ่งหวังเพื่อให้การทำงานมีความยืดหยุ่น สอดรับกับสภาพปัญหา ความท้าทาย และความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ด้วยตนเองได้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรม “ยกระดับการป้องกันเชิงรุกและการสืบสวนการทุจริตด้วยแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต” เพื่อเสริมทักษะให้กับเจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันการทุจริตและเจ้าหน้าที่ด้านสืบสวนคดีทุจริต ผ่านการกำหนดแนวทางร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่จังหวัด ภาค และประเทศ เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน ด้วยเครื่องมือแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตผ่านระบบสารสนเทศแผนที่ต่อต้านการทุจริตประเทศไทย TMAC (Thailand Mapping of Anti-Corruption) เป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกันในระดับปฏิบัติ เช่น ประเด็นปฏิบัติการลงพื้นที่แก้ไขความเสี่ยงต่อการทุจริต การแสวงหา แลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสารความเสี่ยงการทุจริต ประเด็นการใช้และเชื่อมโยงระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการสืบสวนและป้องกันการทุจริตเชิงรุก ประเด็นการสนับสนุนองค์ความรู้ ทรัพยากร และการปรับปรุงระเบียบแนวปฏิบัติจากสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางสู่ระดับพื้นที่ ประเด็นกรณีศึกษา การวางแนวทางการปฏิบัติ กรณีพบความเสี่ยงต่อการทุจริต เป็นต้น
โดยช่วงเช้า การอภิปราย ในหัวข้อ “การบูรณาการภารกิจป้องกันการทุจริตกับการสนับสนุนภารกิจสืบสวนการข่าวและกิจการพิเศษผ่านระบบแผนที่ต่อต้านการทุจริตประเทศไทย” วิทยากรโดย นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ นางสาวมิรินทร์รัช ชิตถุง ผู้อำนวยการสำนักไต่ส่วนการทุจริตภาครัฐ 2 นายอนุชา พึ่งบุญศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด นางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต และนายณัฐปกรณ์ ประเสริฐสุข เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
และช่วงบ่าย เป็นการแบ่งกลุ่มประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “ระดมความเห็นการพัฒนาแนวทางการบูรณาการภารกิจป้องกัน สืบสวน และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต” โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งมีประเด็นหัวข้อในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1: ประเด็นปฏิบัติการลงพื้นที่แก้ไขความเสี่ยงต่อการทุจริต กลุ่มที่ 2: ประเด็นการแสวงหา แลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสารความเสี่ยงการทุจริต กลุ่มที่ 3: ประเด็นการใช้และเชื่อมโยงระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการสืบสวน และป้องกันการทุจริตเชิงรุก กลุ่มที่ 4: ประเด็นการสนับสนุนองค์ความรู้ ทรัพยากร และการปรับปรุงระเบียบ และกลุ่มที่ 5: ประเด็นกรณีศึกษา การวางแนวทางการปฏิบัติ กรณีพบความเสี่ยงต่อการทุจริต
สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมการยกระดับการป้องกันเชิงรุกและการสืบสวนการทุจริตด้วยแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในครั้งนี้ จะทำให้งานด้านป้องกันการทุจริต และภารกิจการสืบสวน มีแนวทางการปฏิบัติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง ตลอดจนสามารถดำเนินการระงับยับยั้งกรณีความเสี่ยงต่อการทุจริตร่วมกับภาคีเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อการสืบสวนการข่าวที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่มีการสนับสนุนด้านข้อมูล บุคคล เบาะแส ฐานข้อมูล สำหรับการรวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบการดำเนินคดีหรือการป้องกันการทุจริตต่อไป