จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 912
ในรอบปีที่ผ่านมาเราได้รับทราบข่าวจากสื่อมวลชนในช่องทางต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการจนถึงตำแหน่งผู้บริหารในระดับสูง เรียกรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ข้อเท็จจริง คือ สำนักงาน ป.ป.ช. มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พรป.) มาตรา 128 โดยเนื้อหาของ พรป. ระบุไว้ว่าห้ามเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ซึ่งกำหนดให้การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐและผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐยังไม่ถึง 2 ปี เป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องจากการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐที่อาจทำให้ประชาชนหรือสังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยได้ว่าจะมีการใช้อำนาจหน้าที่หรือ
การดำเนินการใด ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้ทรัพย์สินนั้นหรือไม่ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น แม้ว่าในความเป็นจริงเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นได้รับมาจริง โดยมิได้มีการใช้อำนาจหน้าที่หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ให้ทรัพย์สินนั้นก็ตาม แต่การจะพิสูจน์ให้ประชาชนสิ้นสงสัยนั้นกระทำได้ยาก และอาจนำไปสู่การทุจริตในรูปแบบของการรับสินบน โดยใช้อำนาจหน้าที่หรือใช้ดุลพินิจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่ให้ทรัพย์สิน ทั้งนี้ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสามารถกระทำได้ ดังนี้ การรับโดยธรรมจรรยา มีกฎหมายรองรับ คือ การรับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติ โดยจะต้องเป็นการรับที่มีมูลค่าเหมาะสมตามฐานะของผู้ให้ การรับจากบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ โดยต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท และการรับจากการให้บุคคลทั่วไปโดยไม่เจาะจงผู้รับ ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาทเช่นกัน และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับไว้ แต่ต้องรายงานต่อผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานทราบ
ความแตกต่างระหว่างการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดกับการรับสินบน คือ ความผิดในเรื่องของการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้น เมื่อมีการรับทรัพย์สินที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก็จะมีความผิดทันที โดยที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นจะใช้หรือไม่ใช้อำนาจหน้าที่ก็ตาม แต่หากเป็นการรับเพื่อการกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ก็จะเป็นความผิดในเรื่องของการรับสินบนได้ เช่น การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 กำหนดไว้ว่าห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด... ตัวอย่าง นาย ก. เจ้าพนักงาน ของรัฐใช้อำนาจในตำแหน่งโดยชอบ ว่าจ้างนาย ข. เป็นผู้ก่อสร้างอาคารให้แก่ทางราชการ และมีการทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว นาย ข. ดีใจที่ได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น จึงนำเงินจำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่นาย ก. โดยนาย ก. รับเงินจำนวนนั้นไว้ กรณีนี้ นาย ก. ไม่มีความผิดฐานรับสินบน เพราะนาย ก. ไม่ได้เรียกรับทรัพย์สินจากนาย ข. และไม่ได้มีการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นาย ข. แต่นาย ก. จะมีความผิดในเรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือ การรับสินบน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน... เรียก รับ ยอมจะรับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ... ตัวอย่าง นาย ก. เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาที่จะว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้ก่อสร้างอาคารให้แก่ทางราชการ แต่ก่อนทำสัญญา นาย ก. ได้รับเงินจำนวนหนึ่งจาก นาย ข. จึงได้เชิญนาย ข. มาทำสัญญา ให้ได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น กรณีนี้ นาย ก. จะมีความผิดฐานรับสินบน เพราะนาย ก. รับทรัพย์สินสำหรับตนเอง โดยมิชอบและได้มีการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นาย ข. และยังมีความผิดในเรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดด้วยหากเจ้าพนักงานของรัฐฝ่าฝืนจะต้องรับโทษ ดังนี้ การรับทรัพย์สิน/ประโยชน์อื่นใด บังคับใช้โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ได้แก่ เจ้าพนักงานของรัฐทุกตำแหน่ง และผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐยังไม่ถึง 2 ปี โดยลักษณะของการทำผิด คือการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนของการรับสินบน บังคับใช้โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ) ผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ได้แก่เจ้าพนักงาน/สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ/สมาชิกสภาจังหวัด/สมาชิกสภาเทศบาล ลักษณะของการกระทำผิด คือ เรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ โทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท หรือประหารชีวิต
จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ระบุข้อห้ามเจ้าพนักงานของรัฐทุกคน รวมถึงผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐยังไม่ถึง 2 ปี ในการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ไว้อย่างชัดเจนตามรายละเอียดข้างต้น หากพบเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำนักงาน ป.ป.ช. โทร. 1205, 0 2528 4800 หรือส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
-----------------------------------------------
** ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ หมายถึง สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน