จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 776
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกหนึ่งกลไกสำคัญในการตรวจสอบและการป้องกันการทุจริต
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นอีกหนึ่งกลไกทางกฎหมายที่สำคัญในการตรวจสอบและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน มุ่งหวังที่จะสร้างระบบธรรมาภิบาลและความโปร่งใสให้เกิดขึ้นกับระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทย ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปผ่านกลไกการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และผลการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (3) กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๑๐๒ บัญญัติไว้ว่า ในการดำเนินการตามมาตรา 28 (3) อย่างน้อยคณะกรรมการป.ป.ช. ต้องกำหนดให้ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช ซึ่งคำว่า “คู่สมรส” ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา, ข้าราชการการเมืองอื่นนอกจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ข้อ 4(1))
ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชี 2 กรณี คือ
กรณีเข้ารับตำแหน่ง ให้แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริง ณ วันที่เข้ารับตำแหน่ง โดยให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่เข้ารับตำแหน่ง
กรณีพ้นจากตำแหน่ง ให้แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริง ณ วันที่พ้นจากตำแหน่งโดยให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ กรณีพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายในหนึ่งเดือน และกรณีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
การขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
ก่อนครบกำหนดระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ยื่นบัญชีอาจยื่นคำขอขยายระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ โดยสามารถอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มี 3 ช่องทาง
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่ยื่น หากผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ภายในเวลาที่กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย ดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ การปราบปรามการทุจริต การป้องกันการทุจริต และการตรวจสอบทรัพย์สิน ภายใต้ค่านิยมหลักขององค์กร “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” ทั้งนี้ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนคนไทย ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมที่ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน หากพบเห็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ฉ้อโกง หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ สามารถแจ้งได้ที่หมายเลข 1205 หรือร้องเรียนทางเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. (www.nacc.go.th) หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทั่วประเทศ
...................................................
อ้างอิง : พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
และประกาศที่เกี่ยวข้อง
: ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561