Contrast
Font
cc45af349b4e458066ba1f9f843b1d47.jpg

ป.ป.ช. เดินหน้าชี้แจงการประเมิน ITA ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจทางหลวง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 86

27/11/2567

ป.ป.ช. เดินหน้าชี้แจงการประเมิน ITA ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจทางหลวง

 

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส จัดประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐระดับต่ำกว่ากรม (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดและด่านตรวจคนเข้าเมืองในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจทางหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting 

 

วัตถุประสงค์เพื่อให้ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดและด่านตรวจคนเข้าเมืองในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  สถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้รับรู้ รับทราบแนวทางการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อีกทั้งยังได้ทราบ ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติ ที่ทำให้สามารถขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย

 

โดยมี พล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร รองจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวเปิดกิจกรรมและมอบนโยบายแก่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจทางหลวง ทั่วประเทศ และนางสาวอภิสร์ญา พัดเกร็ด ผู้อำนวยการสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส  ชี้แจงถึงจุดเน้นของการประเมิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และนายยอดไผ่ หล้าอินสม เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส พร้อมด้วย ดร.ชนิดา อาคมวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ ชี้แจงแนวทางและปฏิทินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดและด่านตรวจคนเข้าเมืองในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจทางหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และคณะนักวิจัยการพัฒนาระบบ ITAP จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมชี้แจงแนวทางการใช้ระบบ ITAP ที่มีการพัฒนาและปรับปรับประสิทธิภาพของระบบ อาทิ การปรับเพิ่ม Function ตัวเลือกการเข้าตอบแบบประเมิน ด้วยการใช้ OTP (One Time Password) แทนการะบุเลขประจำตัวประชาชน หรือการเพิ่ม Function ระบบการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม หรือระบบการอุทธรณ์ (เดิม) ผ่านระบบ ITAP

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานจเรตำรวจ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้แทนกองบังคับการตำรวจทางหลวง และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมจำนวนกว่า 500 คน

 

สำหรับการประเมิน ITA ของสถานีตำรวจทั้ง 3 ประเภทหน่วยงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 นี้ มุ่งปรับข้อคำถามให้ สั้น กระชับ เข้าใจง่าย แต่ยังคงภายใต้เครื่องมือการประเมินเดิม แต่มีการปรับข้อคำถามเชิงกลยุทธ์มุ่งส่งเสริมความโปร่งใสและลดการทุจริตที่เกิดขึ้น และตอบสนองต่อ CPI โดยเฉพาะข้อคำถามด้านการให้บริการ การอนุมัติ อนุญาต ของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดและด่านตรวจคนเข้าเมืองในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การจัดการความเสี่ยงต่อการรับสินบนของตำรวจทางหลวง โดยเฉพาะในประเด็นรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และการจัดการความเสี่ยงต่อการรับสินบนโดยเฉพาะเรื่องการรับสินบนจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ของตำรวจท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ ยังได้ปรับข้อคำถามในการประเมินสอดคล้องกับบริบทของการทำงานที่มีความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานตามภารกิจของสถานีตำรวจและการบริการให้แก่ประชาชนแต่ละประเภทหน่วยงาน และการมุ่งเน้นการพัฒนาการให้บริการผ่านระบบ E-Service อาทิ ระบบการให้บริการขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Extension) ระบบรับการตรวจลงตรา (E-VOA) ระบบการรับแจ้งอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน (ตม 47) การแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย สำหรับเจ้าบ้านเจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหะสถาน (ตม 30) ทั้งนี้ในส่วนของตำรวจทางหลวง ยังมีการพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการด้วยการพัฒนา ระบบ E-Service ได้แก่ ระบบการขอรถนำขบวน อีกด้วย อีกทั้ง ยังมีการเพิ่มทางเลือกในการเข้าตอบแบบวัดการรับรู้ IIT และ EITด้วยการใช้ OTP (one time password) มาใช้เป็นทางเลือกในการยืนยันตัวตนหากไม่ประสงค์ระบุเลขบัตรประชาชน เป็นต้น

 

การประเมินดังกล่าว จะช่วยให้หน่วยงานเกิดความตระหนักและนำกรอบการประเมินที่กำหนดไปพัฒนาระบบงาน ออกแบบกลไกและวางหลักการบริหารราชการที่ดีเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร จัดทำมาตรการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และนำสู่การปฏิบัติจริงเพื่อให้ “เกิดการรับรู้ที่ดี” และนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดโอกาส ลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริตในหน่วยงาน อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลผลการปฏิบัติงานของตำรวจ ข้อมูลการให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงาน อันจะสะท้อนความโปร่งใสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในสายตาของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่อไป

Related