จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 269
ป.ป.ช. ประชุมร่วม กทม. บูรณาการแนวทางป้องกันการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดย นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 รักษาราชการแทน รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าพบ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการทุจริตในประเด็นการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 รับทราบมาตรการดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงาน ป.ป.ช. และกรุงเทพมหานคร จึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการป้องกันการทุจริตในประเด็นการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน กรณีการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และรายการตรวจสอบ (Checklist) ที่เป็นมาตรฐานกลางการเริ่มนับระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร สถิติเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับการทุจริตในกระบวนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และแนวการการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง
โดยผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ประกอบด้วย นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. สำหรับผู้แทนกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร
การประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการป้องกันการทุจริตในประเด็นดังกล่าว ถือเป็นการบูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับกรุงเทพมหานคร ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต การเรียกรับสินบนของเจ้าพนักงานของรัฐ ลดการใช้ดุลยพินิจ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการ เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนต่อไป