Contrast
Font
ccb30eec62333a7dfe54b46a11385d0d.jpg

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ และร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 4 เรื่อง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 7085

05/04/2566

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ และร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 4 เรื่อง

 

วันที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. นายนิวัติไชย  เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ และร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้  

 

เรื่องที่ 1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กับพวก รวม 33 ราย กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทุจริตในการขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติ บริเวณโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนหารายได้ร่มเกล้า ระยะที่ 10 (พาร์ควิลล์ ร่มเกล้า) เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน

 

         สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นกรณีกล่าวหา นายกฤษดา  รักษากุล  ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กับพวก รวม 33 ราย ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตในการขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติ บริเวณโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนหารายได้ร่มเกล้า ระยะที่ 10 (พาร์ควิลล์ ร่มเกล้า) เป็นการหลีกเลี่ยงระเบียบการเคหะแห่งชาติว่าด้วยการขายที่ดิน พ.ศ. 2548 ฝ่าฝืนมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุนทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับความเสียหาย 

 

         ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและมีมติเห็นชอบหลักการกรอบแผนการลงทุนและอนุมัติโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2557 ซึ่งมีโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนหารายได้ร่มเกล้าระยะที่ 10 (พาร์ควิลล์ ร่มเกล้า) มีแผนที่จะก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จำนวน 269 หน่วยในพื้นที่กว่า 35 ไร่รวมอยู่ด้วย ต่อมามีนายประเสริฐ บินอานัด กับพวกรวม 8 ราย (เจ้าของที่ดินที่มีพื้นติดกับที่ดินของการเคหะแห่งชาติ) ได้ร่วมมือกับนายเจริญพนิช จันทภิรมย์รักษ์ นายหน้าค้าที่ดิน กับพวกรวม 3 ราย โดยมอบอำนาจลอยระบุว่าผู้มอบอำนาจได้มอบอำนาจให้นายหน้าเป็นผู้ดำเนินการยื่นเสนอขอซื้อที่ดินในโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติแล้วจำนวนเนื้อที่ 260 ตารางวา ความกว้าง 22 เมตร ความยาว 47 เมตร ทั้งที่ นายประเสริฐ บินอานัด กับพวกรวม 8 ราย ไม่มีความประสงค์ที่จะซื้อที่ดินในโครงการดังกล่าวตั้งแต่แรก เนื่องจากสามารถเข้าออกที่ดินผ่านทางเดินริมคลองได้อยู่แล้วและไม่มีเงินเพียงพอที่ซื้อได้ แต่เป็นความประสงค์ของนายเจริญพนิช จันทภิรมย์รักษ์  นายหน้าค้าที่ดินกับพวกรวม 3 ราย ที่ต้องการซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ใช้เป็นทางเข้าออกของโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ฝ่ายนายหน้าได้รวบรวมที่ดินแปลงใหญ่ จำนวนกว่า 170 ไร่ ไว้ก่อนแล้ว เมื่อการเคหะแห่งชาติได้รับคำเสนอซื้อแล้วได้มีการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการปรับปรุงโครงการด้านกายภาพ (คณะหนึ่ง) ซึ่งมีนายชวนินทร์ พรหมรัตนพงษ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในที่ประชุมได้พิจารณาการเสนอซื้อที่ดินของนายหน้า และมีมติขายที่ดินระบุให้สิทธิโดยตรง เนื่องจากเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้า - ออกสู่ทางสาธารณะ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาโดยไม่ได้มีการตรวจสอบคำเสนอซื้อ ทั้งที่ในคำเสนอซื้อสามารถพบข้อพิรุธที่ควรต้องตรวจสอบ เช่น ระบุความประสงค์ว่าต้องการที่ดินเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรรบ้านเดี่ยว 2 ชั้น จำนวน 145 หน่วย , สำเนาโฉนดที่อ้างว่าเป็นที่ดินตาบอดไม่มีหน้าสารบัญเพื่อใช้ยืนยันตัวตนผู้มอบอำนาจได้ เป็นต้น จากนั้นนางสาวบังอร ทองส่งโสม กับพวกรวม 5 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทรัพย์สินและอาคารเช่าที่มีหน้าที่ตรวจสอบคำเสนอซื้อ แต่ละเว้นไม่ดำเนินการการตรวจสอบ ทำให้ไม่ทราบถึงพฤติการณ์การขอซื้อที่ดินของนายหน้าเพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ และได้เสนอเรื่องให้ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พิจารณาอนุมัติขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งนายกฤษดา  รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติได้มีคำสั่งอนุมัติโดยไม่ได้มีการตรวจสอบทั้งที่รู้อยู่ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดทำโครงการพาร์ควิลล์ ร่มเกล้าแล้ว และการอนุมัติขายที่ดินของผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติยังเป็นการหลีกเลี่ยงการขายยื่นซองเสนอซื้อหรือการประกวดราคาตามระเบียบการเคหะแห่งชาติว่าด้วยการขายที่ดิน พ.ศ. 2548 ข้อ 7

         ภายหลังจากที่นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติอนุมัติขายที่ดิน นายเจริญพนิช จันทภิรมย์รักษ์ กับพวกรวม 3 ราย ได้ไปทำความตกลงกับนายนันทวัฒน์ พิพัฒวงศ์เกษม กรรมการบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ว่าบริษัทจะรับผิดชอบเงินที่ต้องชำระค่าที่ดินจำนวนกว่า 28 ล้านบาท โดยการสั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับจ่ายโดยตรงให้กับการเคหะแห่งชาติ ฉบับแรกจำนวน 5.8 ล้านบาท และฉบับที่ 2 กว่า 23 ล้านบาท จากนั้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 การเคหะแห่งชาติได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 48160 ให้กับ     นายประเสริฐ บินอานัด กับพวกรวม 8 ราย โดยมีนายหน้าทำการแทนทั้งในฐานะผู้รับมอบอำนาจของผู้ซื้อและผู้ขาย ให้กับบริษัท แอตแลนติก เรียลเอสเตท จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)) จากนั้นบริษัท แอตแลนติก เรียลเอสเตท จำกัด ได้มอบแคชเชียร์เช็คให้กับการเคหะแห่งชาติจนครบถ้วน

         การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบคำเสนอซื้อดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันทุจริต หลีกเลี่ยงการขายที่ดินตามระเบียบการเคหะแห่งชาติว่าด้วยการขายที่ดิน พ.ศ. 2548 จากวิธียื่นซองเสนอราคาเป็นวิธีให้สิทธิโดยตรง ฝ่าฝืนมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายหน้า ชาวบ้านผู้ขอซื้อ และกลุ่มบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อที่ดินตามที่วางแผนไว้เพื่อจัดทำเป็นถนนเข้า - ออกสู่โครงการหมู่บ้านจัดสรร

         คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

         การกระทำของนายกฤษดา  รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ, นายชวนินทร์  พรหมรัตนพงษ์ นางพัชรวรรณ สุวปรีชาภาส นายประภาส  สัมมาชีพ  นายสุเมธัส  ชูจิตารมย์ นายวิญญา  สิงห์อินทร์  และนางจงรัก เฉลิมเกียรติ ในฐานะกรรมการพิจารณาการปรับปรุงโครงการด้านกายภาพ (คณะหนึ่ง) มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11  ,พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับการเคหะ ฉบับที่ 66 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การตัด หรือลดขั้นเงินเดือน การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงาน ข้อ 38

         สำหรับนายสมคิด จารุมาศมงคล นายมานิตย์ ตันติเสรี นางสาวกัลยา  พึ่งคง และนายสมบูรณ์ พรหมหาราช ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการปรับปรุงโครงการด้านกายภาพ (คณะหนึ่ง) ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายแทนกรรมการฯ นั้น ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดี หรือความก้าวหน้าแก่การเคหะแห่งชาติ ด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวังและรักษาผลประโยชน์ของการเคหะแห่งชาติ ตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 66 ว่าด้วยการบรรจุการแต่งตั้ง ข้อ 28
การกระทำของนายวิญญา สิงห์อินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานสินทรัพย์, นางสาวบังอร  ทองส่งโสม นายนันทพล  ทองพ่วง  นางกิตติมา  รุ่งกระจ่าง และนายสุภัคร  ลดาวัลย์ ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารงานสินทรัพย์ และอาคารเช่า มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ,พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับการเคหะ ฉบับที่ 66 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การตัดหรือลดขั้นเงินเดือน การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์ การลงโทษของพนักงาน ข้อ 38 การกระทำของนายเจริญพนิช  จันทภิรมย์รักษ์  นายภิรมย์  แฟงทอง  และนายจุลศักดิ์ มาตรไตร  นายประเสริฐ  บินอานัด  นายวุฒิชัย  บินอานัด  นางอรดา  มารีย๊ะ  นายสุชาติ  บินอานัด  นางดวงใจ  ฤทธิเดช  นายธีรศักดิ์ ทับอุไร  นายนันทวัฒน์  พิพัฒวงศ์เกษม  นายอดิศร  ธนนันท์นราพูล , นายวิศิษฐ์  ตันติชัยปกรณ์  นายธีระ  เบญจศิลารักษ์  นายอนันต์  อัศวโภคิน  บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด  (มหาชน)  และบริษัท แอตแลนติกเรียลเอสเตท จำกัด  มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงานในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502  มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน   ของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12  ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 , พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ   ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

         สำหรับนายสมจิตร ซาฟีวงษ์ และนางคอเยาะ วงษ์อารี ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 57 จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้กระทำความผิด และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 และให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอน ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ด้วย

 

เรื่องที่ 2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า พร้อมพวก ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีจัดซื้อถุงมือยาง จำนวน 500,000,000 กล่อง ระหว่างองค์การคลังสินค้า กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่ากว่า 112,500,000,000 บาท

 

สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนกรณีการจัดซื้อถุงมือยางจำนวน 500,000,000 กล่อง ระหว่างองค์การคลังสินค้า กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ตามสัญญาเลขที่ อคส.ถม. 357/2563 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563  ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหา 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า ประกอบด้วย พันตำรวจเอก รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า นายเกียรติขจร แซ่ไต่ หัวหน้าส่วนงานการตลาดดิจิตอล รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการขายและจัดจำหน่าย และนายมูรธาธร คำบุศย์ หัวหน้าส่วนงานการเงิน  สำนักบริหารการเงิน ผู้ถูกกล่าวหา
  2. กลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาซื้อถุงมือยางจากองค์การคลังสินค้า ประกอบด้วย นายศรายุทธ สายคำมี  นางสาวสุภาวดี เอกรัตนากุล หรือ จักรบดินร์  นายชิเนนทรธรณ์ หรือ ชเนนทร เลิศพิพัฒน์  นายก้องหล้า มฤคพิทักษ์ นางเฟื่องฟ้า วงศ์สินศิริกุล  นายอับดุลลา ปาทาน  นายราชาทีปซิงห์ ยอน  นางฉันทิศา หวง กรรมการบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด บริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด  ร้อยตำรวจเอก นพฤทธิ์ หรือ ณรภัทร สุขแจ่ม  นางนรากร รมศรี  นางปณาลี  บุรณศิริ ผู้ถูกกล่าวหา
  3. กลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาขายถุงมือยางให้กับองค์การคลังสินค้า ประกอบด้วย บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด นายธณรัสย์ หัดศรี กรรมการบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด  นางสาวปิยาภรณ์ รอดเจริญ นางสาวพิชญศรส์ เศวตศุภวัฒณ์  นางสาวกันตา  สิงห์ศักติ  นายอัยวัฏฐ์ เศวตนริทร์

         จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่และให้การช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันในการกระทำความผิด โดยผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ได้กระทำความผิดโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการทุจริต ด้วยการร่วมกันกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นกลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาซื้อถุงมือยางนำบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้าขายถุงมือยาง รวมทั้งยังได้ร่วมกันแอบอ้างว่ามีผู้แทนของ GALORE MANAGEMENT, LLC และ KRENEK LAW OFFICES, PLLC ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นผู้ซื้อถุงมือยางจากองค์การคลังสินค้าในมูลค่าสูง ทั้งที่ยังไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์หรือระเบียบในการจัดหาและจำหน่ายสินค้า จากนั้นได้เร่งรีบเสนอโครงการจัดซื้อถุงมือยางที่ไม่ได้อยู่ในแผนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์การคลังสินค้า ไม่ติดประกาศในที่เปิดเผย ไม่มีราคาอ้างอิง โดยใช้เป็นข้ออ้างว่ามีลูกค้ารองรับซื้อต่อล่วงหน้าแล้ว เพื่อมุ่งหมายและมีวัตถุประสงค์ในการร่วมกับกลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางนำบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด เข้าทำสัญญาขายถุงมือยางกับองค์การคลังสินค้า โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่น รวมทั้งเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการถอนเงินขององค์การคลังสินค้าที่ได้ฝากประจำไว้ยังสถาบันการเงินไปจ่ายเป็นเงินล่วงหน้าให้กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จำนวน 2,000,000,000 บาท โดยไม่มีอำนาจ ประกอบกับสัญญาที่ใช้  ในการลงนาม ก็ไม่ใช่สัญญาที่ใช้หรือเคยใช้อยู่ในหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งไม่ดำเนินการส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การคลังสินค้าและราชการอย่างร้ายแรง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

          การดำเนินการทางอาญาและทางวินัย

  1. การกระทำของ พันตำรวจเอก รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ หัวหน้าส่วนงานการตลาดดิจิตอล รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการขายและจัดจำหน่าย องค์การคลังสินค้า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ  พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2561 
  2. การกระทำของนายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 มาตรา 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
  3. การกระทำของนายมูรธาธร คำบุศย์ หัวหน้าส่วนงานการเงิน สำนักบริหารการเงิน องค์การคลังสินค้า มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2561 
  4. การกระทำของ บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด และนายธณรัสย์ หัดศรี กรรมการบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด  นายศรายุทธ  สายคำมี นางสาวปิยาภรณ์  รอดเจริญ  นางสาวพิชญศรส์  เศวตศุภวัฒณ์ นางสาวกันตา  สิงห์ศักติ  นายอัยวัฏฐ์  เศวตนริทร์  นางสาวสุภาวดี  เอกรัตนากุล หรือ จักรบดินร์  นายชิเนนทรธรณ์ หรือชเนนทร เลิศพิพัฒน์  นายก้องหล้า  มฤคพิทักษ์  นางเฟื่องฟ้า วงศ์สินศิริกุล  นายอับดุลลา ปาทาน  นายราชาทีปซิงห์  ยอน  นางฉันทิศา หวง กรรมการบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด  บริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด  ร้อยตำรวจเอก นพฤทธิ์ หรือ ณรภัทร สุขแจ่ม  นางนรากร  รมศรี  และนางปณาลี  บุรณศิริ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 มาตรา 11  และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 นอกจากนี้ การกระทำของนางสาวกันตา  สิงห์ศักติ  ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

         การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้อายัดไว้ ขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดดังนี้

  1. เงินฝากของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด และนายธณรัสย์ หัดศรี ในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงินจำนวน 315,946,014.79 บาท พร้อมดอกเบี้ย
  2. เงินของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ที่สำนักงานวางทรัพย์จังหวัดนครปฐม จำนวน 14,697,500 บาท
  3. ที่ดินของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ตามโฉนดที่ดินตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัด สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
  4. เงินจำนวน 200,000,000 บาท ที่บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด นำไปวางเป็นหลักประกัน การปฏิบัติตามสัญญากับองค์การคลังสินค้า ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้
  5. เงินจำนวน 20,000,000 บาท ที่บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จ่ายให้กับบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้ และให้ส่งข้อมูลที่ได้จากการไต่สวนให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

 

 

เรื่องที่ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นางสาววราภัสร์ ลอยขจร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กับพวก เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นการตอบแทนที่จะช่วยเหลือในการบรรจุเข้ารับราชการ

         สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้น ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นกรณีกล่าวหานางสาววราภัสร์  ลอยขจร  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กับพวก เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นการตอบแทนที่จะช่วยเหลือในการบรรจุเข้ารับราชการ

         คณะไต่สวนเบื้องต้นได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ความว่าเมื่อปี พ.ศ. 2558 องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ได้ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ     เป็นพนักงานส่วนตำบล  โดยก่อนที่จะมีการประกาศรับสมัครสอบแข่งขันดังกล่าว นางสาววราภัสร์ ลอยขจร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม ได้โทรศัพท์แจ้งให้นายจักรินทร์ นิลแพทย์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำร้อน ทราบว่าสามารถช่วยเหลือผู้เข้าสอบให้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งได้ โดยต้องเสียค่าตอบแทน จากนั้นนายจักรินทร์ นิลแพทย์ ได้เรียกผู้กล่าวหา พร้อมกับพนักงานจ้างรายอื่น ๆ เข้ามาในห้องทำงานของนายจักรินทร์ นิลแพทย์ เพื่อแจ้งรายละเอียดเรื่องดังกล่าวให้ทราบว่าในการช่วยเหลือดังกล่าวนั้นมีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 400,000 บาท สำหรับการบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลระดับ 2 โดยขึ้นบัญชีไว้ 1 ปี และ 600,000 บาท สำหรับการบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลระดับ 2 โดยไม่ต้องขึ้นบัญชี และ 700,000 บาท สำหรับพนักงานส่วนตำบลระดับ 3 โดยขึ้นบัญชีไว้ 1 ปี และ 800,000 บาท สำหรับพนักงานส่วนตำบลระดับ 3 โดยไม่ต้องขึ้นบัญชี

         ต่อมาเมื่อผู้กล่าวหาได้ตกลงใจที่จะจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท ตามข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และได้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารกรุงไทย และในวันเดียวกันนั้นนางสาวเอติพากร ธรรมยม ผู้ช่วยเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม ได้นำใบถอนเงินไปถอนเงิน จำนวน 400,000 บาท จากบัญชีเงินฝากดังกล่าวมาให้แก่นางสาววราภัสร์ ลอยขจร ต่อมาผู้กล่าวหาได้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล ประจำปี 2558 ในตำแหน่งเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน ระดับ 2 และเมื่อการรับสมัครสอบได้เสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลโตนดประกาศยกเลิกการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล ประจำปี 2558 ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อผู้กล่าวหาได้ทราบการยกเลิกการสอบดังกล่าว ผู้กล่าวหา ได้ติดต่อนางสาววราภัสร์ ลอยขจร เพื่อพูดคุยเรื่องขอเงินคืน จนกระทั่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 นางสาววราภัสร์ ลอยขจร ได้เดินทางนำเงินมาคืนผู้กล่าวหาด้วยตนเอง ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาวิเชียรบุรี

         คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของนางสาววราภัสร์  ลอยขจร และนายจักรินทร์ นิลแพทย์ มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/4 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง  นางสาวเอติพากร  ธรรมยม  มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 175)

 

เรื่องที่ 4 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 10,045,000 บาท

         สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้น ดำเนินการไต่สวนนายภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่ำรวยผิดปกติ  ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน พบว่านายภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของตนและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่ง ปรากฏว่ามีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งกรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจากการเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือ มีเงินฝากในบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นบัญชีในชื่อของภรรยาของนายภุชงค์ โพธิกุฎสัย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่านายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 10,045,000 บาท จึงมีมติให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน

 

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

.........................................................................

 

การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด

ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

Related