Contrast
Font
9950032b12a9d9d8b932fcc9c32134e8.jpg

ป.ป.ช. ให้ความสำคัญการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส การดำเนินงานภาครัฐ (ITA)

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 510

24/08/2566

          สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าสานต่อความสำคัญของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยถึงภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการอย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจสรุปภาพรวมออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.) ด้านการเสริมสร้างทัศนคติค่านิยม (education) ในความซื่อสัตย์สุจริต และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการทุจริตและค่านิยมที่เน้นการพึ่งพา “ระบบอุปถัมภ์ในสังคม”

2.) ด้านการป้องกันการทุจริต (prevention) ดำเนินการผ่านมาตรการป้องกันการทุจริตรูปแบบต่างๆ รวมถึงการประเมิน ITA ป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นต้น

3.) ด้านการปราบปรามการทุจริต (suppression) อันเป็นไปตามขอบเขตหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 

          โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบผ่านการดำเนินการภารกิจทั้ง 3 อย่างคู่ขนานกัน และการประเมิน ITA ก็เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจและเป็นกลยุทธ์ในการแก้ไขป้องกันการทุจริตควบคู่กันกับภารกิจการปราบปรามการทุจริต เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตในสังคมไทยเกิดผลสัมฤทธิ์ในทุกมิติและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว

          สำหรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment) หรือ การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมการป้องกันการทุจริต เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเกิดการพัฒนาด้านการปฏิบัติงาน การให้บริการ และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปตามที่กฎหมาย ยุทธศาสตร์หรือแผนระดับต่างๆ ได้กำหนดไว้ อันจะนำไปสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล และลดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบให้ลดน้อยลง ดังจะเห็นได้จากตัวชี้วัดและประเด็นการประเมินที่มุ่งเน้นในเรื่องการบริหารจัดการและการดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่มีสัดส่วนคิดเป็น 95% ของค่าคะแนนการประเมิน ITA ทั้งหมด และมีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นการสำรวจการรับรู้การทุจริตทางตรงและทางอ้อมจากการปฏิบัติงานของบุคลากรทุกคนในองค์กร

          หากพิจารณาเจาะลึกลงในข้อคำถามที่ประเมินแล้ว จะเห็นได้ว่าการประเมิน ITA เป็นเครื่องมือที่เข้าไปตรวจสอบว่าหน่วยงานภาครัฐได้มีการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการ ทางสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็จะช่วยในการสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาทิ

                     - พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ

                     - พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม

                     - พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

                     - พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ

                     - พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

                     - พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล

                     - พรฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

                     - มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ

                     - กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานอื่นๆ อีกมากมาย

                     - และแผนงานระดับชาติ เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ และแผนการปฏิรูปประเทศ

          การประเมิน ITA เป็นการดำเนินการที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการเป็นประจำทุกปี โดยในแต่ละปีจะมีการประกาศปฏิทินการประเมิน ITA เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง สามารถดำเนินการประเมินได้อย่างเป็นระบบ ระเบียบ พร้อมเพรียงกัน ที่สำคัญคือต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งทั่วประเทศจะต้องทำการประเมินตามกระบวนการในปฏิทินการประเมิน ITA ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ ดังนี้

                     1) ช่วงเตรียมความพร้อมประเมิน : มีระยะเวลา 3 เดือน อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมให้คำปรึกษาแนวทางการพัฒนาระบบและกระบวนการดำเนินงานในปีงบประมาณ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โปร่งใสมากขึ้น และประชาชนที่มาติดต่อรับบริการมีความพึงพอใจมากขึ้น

                     2) ช่วงดำเนินการประเมิน : อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 - 3 ของปีงบประมาณ ระยะเวลา 6 เดือน เป็นช่วงที่หน่วยงานได้ดำเนินการพัฒนาระบบและกระบวนการดำเนินงานแล้ว จากนั้นจะจัดเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือการประเมิน 3 เครื่องมือ ทั้งจากการรับรู้ของบุคคลภายในองค์กร บุคคลภายนอก และผลการดำเนินงานที่เปิดเผยสู่สาธารณะทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน

                     3) ช่วงสรุปผลและเผยแพร่ผลการประเมิน : ระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม โดยสำนักงาน ป.ป.ช.จะตรวจให้คะแนน สุ่มตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจะประมวลผลและวิเคราะห์ผล ก่อนเสนอไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศผลการประเมิน ITA ของแต่ละหน่วยงานให้สาธารณชนทราบภายในเดือนสิงหาคมต่อไป

          การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือที่ออกแบบบนฐานของความเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการประเมิน ITA มีความสุจริตและต้องการเห็นบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าปราศจากปัญหาการทุจริตเป็นที่ตั้ง ดังนั้น จึงได้มีการออกแบบขั้นตอนการประเมินที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินให้ได้หลากหลายและรอบด้านมากที่สุด หากพิจารณาตัวชี้วัดและข้อคำถามการประเมินจะเห็นได้ว่า การประเมิน ITA มีการเก็บข้อมูลอย่างรอบด้าน (360°) ผ่าน 3 เครื่องมือการประเมิน ได้แก่

1.) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน IIT มีสัดส่วนคะแนน 30% โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐทุกระดับที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้สะท้อนการรับรู้และแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการของหน่วยงานตนเองใน 5 ตัวชี้วัด 30 ข้อคำถาม

2.) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก EIT มีสัดส่วนคะแนน 30% โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้สะท้อนการรับรู้และแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งใน 3 ตัวชี้วัด 15 ข้อคำถาม และ

3.) แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลและการดำเนินโครงการ/กิจกรรมป้องกันการทุจริต OIT มีสัดส่วนคะแนน 40% โดยเป็นการตรวจสอบระดับการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะมาตรฐานขั้นต่ำหรือหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน ที่หน่วยงานภาครัฐควรจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับที่กฎหมายและยุทธศาสตร์กำหนดเป็นอย่างน้อย โดยทั้ง 3 เครื่องมือวัดค่า ITA รวมแล้วจะมีทั้งหมด 88 ข้อคำถาม

          หากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่าย เครื่องมือ ITA ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือตรวจสุขภาพพื้นฐานของ ที่ใช้วัดความผิดปกติของร่างกายว่ามีส่วนใดผิดปกติ หรือส่วนใดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่แล้ว เมื่อพบว่าส่วนใดผิดปกติ บุคคลนั้นต้องรักษาด้วยตนเองหรือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในขั้นต้นนี้ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องดูแลรักษาร่างกายตนเองให้ดีและต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามผลการตรวจสุขภาพเบื้องต้น จึงจะมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นได้ ในท้ายที่สุดสำนักงาน ป.ป.ช. ก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการปราบปรามเพื่อเข้าไปตัดมะเร็งร้ายออกจากร่างกายในท้ายที่สุด

          ในปี 2566 นี้ เข้าสู่ปีที่ 12 ในการประเมิน ITA เป็นเครื่องมือ โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งไทยและเกาหลีใต้ ที่ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือการประเมินกับหน่วยงานภาครัฐ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 อย่างต่อเนื่องทุกปีมาถึงปัจจุบัน ผลการประเมิน ITA กับหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA จากปี 2555 – 2565 มีดังนี้

ปีงบประมาณ พ.ศ.

จำนวนหน่วยงานภาครัฐ

ผลการประเมิน ITA (เฉลี่ย)

2555

8

59.99

2556

14

41.93

2557

259

72.82

2558

8,188

78.39

2559

417

79.86

2560

8,273

77.11

ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินจาก 5 ตัวชี้วัด เป็น 10 ตัวชี้วัด

และปรับเครื่องมือจากประเมินผ่านเอกสารเป็นประเมินออนไลน์ผ่านระบบ ITAS

2561

8,277

68.78

2562

8,058

66.74

2563

8,303

67.90

2564

8,300

81.25

2565

8,303

87.57

         

          จากตารางข้างต้นนั้นคือคะแนนเฉลี่ย แต่หากพิจารณาที่จำนวนหน่วยงานที่ผ่านค่าเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งขีดเส้นไว้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีค่าคะแนน ITA ผ่าน 85 คะแนนขึ้นไปนั้นจึงจะถือว่าผ่าน พบว่าเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด จากจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด 8,303 แห่ง  มีหน่วยงานที่สามารถผ่านค่าเป้าหมายที่กำหนดได้สูงถึง 5,855 หน่วยงาน หรือคิดเป็น 70.52% ของหน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีจำนวนหน่วยงานที่ผ่านค่าเป้าหมายสูงถึง 70.52% แต่จำนวนหน่วยงานที่ผ่านนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุค่าเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ได้ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานกำกับภาครัฐทั้งหลายจะต้องร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาหน่วยงานเพื่อให้ไปถึงเส้นชัยพร้อมกันให้ได้

Related