Contrast
Font
a3f9e3fa0eb3113ae827c7e1a9257c35.jpg

เพราะคุณคือคนสำคัญ จึงต้องมี “จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” กำกับ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1253

27/09/2566

         เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ทราบว่า ศาลฎีกา มีคำพิพากษาลงโทษ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ว่ากระทำการขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม ทั้งด้านที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา

         พรรณิการ์ วานิช ไม่ใช่ นักการเมืองคนแรกที่ถูกลงโทษห้ามสมัครรับเลือกตั้ง และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ในความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก่อนหน้านี้ก็มีนักการเมือง 3 คนที่มีความผิดจริยธรรมร้ายแรง หากแต่มีพฤติการณ์ของการกระทำผิดต่างกัน

         ในมุมมองของความหมายของจริยธรรม ผู้เขียนเห็นว่า “จริยธรรม” คือ ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ความถูกต้องดีงาม สังคมทุกสังคมจะกำหนดกฎเกณฑ์กติกา บรรทัดฐานของตนเองว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีงาม และอะไรคือความถูกต้อง ดังนั้นบุคคลทั่วไปจึงต้องมีจริยธรรมประกอบ หากมองในมุมมองอาชีพ ก็ต้องมีจรรยาในวิชาชีพต่อลูกค้า ต่อสังคม มากกว่าคนปกติทั่วไป ที่เรียกว่า ต้องมีประมวลจรรยาบรรณ (Code of Ethics) ซึ่งหมายรวมถึง สำนึกรับผิดชอบ (Accountability) ต่อสังคม เช่น วงการแพทย์เรียกว่า จรรยาแพทย์  วงการทนายความเรียก มรรยาททนาย หรือแม้แต่สื่อสารมวลชนก็มี จรรยาบรรณของสื่อมวลชน ซึ่งในแต่ละวิชาชีพจะมีการดูแล กำกับ และควบคุมกันเอง

         ดังนั้น ในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เราท่านเรียกว่า นักการเมือง หรือบางท่านก็เรียกเชิงหยิกแกมหยอกว่า นักกินเมือง นั้นก็เช่นกัน ที่ควรจะมีจริยธรรมหรือคุณธรรมที่มีมาตรฐานสูงกว่าบุคคลในตำแหน่งอื่น ๆ ทั่วไป เพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้เข้ามาบริหารบ้านเมืองในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้เลือกตนมาเป็น “ผู้แทน” ต้องถูกตรวจสอบจากประชาชนในลักษณะที่เข้มงวดเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป ในการทำงานมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจ ที่สำคัญของประเทศ ทั้งในเรื่องการใช้อำนาจรัฐทางการเมืองของนักการเมืองที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง พรรคพวก ญาติ เช่น การรับสินบน หรือ การเอื้อให้เกิดประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ

         ผู้เขียนจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่ประเทศไทยกำหนดให้มีการนำมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาใช้ และนับว่าเป็นความก้าวหน้าในการส่งเสริมความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง เพราะบางครั้งการกระทำบางอย่างของนักการเมืองอาจไม่ผิดหรือขัดต่อกฎหมาย เรียกว่ากฎหมายเอาผิดไม่ได้ แต่จะมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ไม่ได้เช่นกัน เป็นเรื่อง “สีเทา ๆ” ซึ่งในการตัดสินชี้ว่าสิ่งที่นักการเมืองกระทำนั้นเหมาะสมหรือไม่จึงต้องนำเอาหลักจริยธรรมมาใช้ประกอบ

         ผู้เขียนขอสรุปรายละเอียด “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 219 ที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งยังให้ใช้บังคับกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีอีกด้วย

         โดยมาตรฐานทางจริยธรรม ฉบับนี้แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 หมวดด้วยกัน โดยหมวดที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ เช่น เรื่องต้องยึดมั่น และธำรงไว้ซึ่งการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พิทักษ์สถาบันฯ ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งหมวดนี้เป็นหมวดที่มีความสำคัญมาก ถ้าหากใครฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ในหมวดที่ 1 ให้ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง หมวดที่ 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก หมวดที่ 3 จริยธรรมทั่วไป และ หมวด 4 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม

มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ นอกจากจะเป็นกรอบให้นักการเมืองประพฤติดี ปฏิบัติชอบแล้ว จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ใช้ต่อสู้กับปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของภาครัฐ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีอดีต ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ส่งผลให้ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตลอดชีวิต จากการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีครอบครองที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จ.ราชบุรี โดยมิชอบ ผู้เขียนได้อ่านคำพิพาษาของศาลฎีกาคดีคุณปารีณาแล้ว จึงเห็นเหตุและผลซึ่งศาลได้ชี้แจงเหตุผลให้เห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรเป็นผู้มีมาตรฐานทางจริยธรรรมเช่นไร

         นอกจากนี้ ผู้เขียนขอยกกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกฉบับหนึ่ง คือ “ประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564” ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 โดยบังคับใช้กับ “ข้าราชการการเมือง”  เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม ผู้เขียนขอขยายความคำว่า ข้าราชการการเมือง ว่าหมายรวมถึงตำแหน่งใดบ้าง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี เป็นต้น

         ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับจริยธรรม จึงมีกฎหมายข้อบังคับหลายฉบับที่ออกมา แต่ท้ายที่สุดผู้เขียนก็ยังมีข้อสังเกตว่ากฎหมายเหล่านี้ เพียงพอและเท่าทันกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านี้มากน้อยเพียงใด อีกทั้งบทลงโทษในแต่ละกรณีความผิดควรเป็นเช่นไร คงต้องใช้เวลาดูกันต่อไป

 

Related