Contrast
Font
949071ac65cec6c23fadbcd501243852.jpg

24 ปี สถาปนา สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าต่อยอดบูรณาการ-ผลักดันสังคมไทย สู่สังคมไม่ทนต่อการทุจริต

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 898

17/11/2566

 24 ปี สถาปนา สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าต่อยอดบูรณาการ-ผลักดันสังคมไทย สู่สังคมไม่ทนต่อการทุจริต

--

“ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” ค่านิยมประจำ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน  และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ “สำนักงาน ป.ป.ช.” ในยุคปัจจุบัน ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีในการกระตุ้นจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในองค์กรอิสระแห่งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย โดยยึดหลักการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม สุจริต โปร่งใส บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์พิเศษเนื่องในวาระครบรอบ 24 ปีเต็ม ของการสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี โดย ท่านประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 24 ปี ของการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มุ่งมั่น ที่จะสร้างให้สังคมไทยไม่ทนต่อการทุจริต ด้วยนโยบายเชิงรุก ทั้งการปราบปรามการทุจริต ควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดขึ้น โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่จะมุ่งมั่นสร้างสังคมไทยที่ไม่ทนต่อการทุจริตอย่างต่อเนื่อง และจากความพยายามที่ สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าผลักดันเพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นมาหลายประการ อาทิ          

(1) การเฝ้าระวังและส่งเสียง (Watch and Voice) คือการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการเฝ้าระวังและเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลที่เกี่ยวข้องกันการทุจริตในทุกรูปแบบ เช่น กรณีการทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และกรณีเงินทอนวัด เป็นต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคประชาชน และสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่มีบทบาทอย่างมากที่ทำให้เสียงของภาคประชาชนเหล่านี้ดังจนกระทั่งเรื่องนั้น ๆ เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในที่สุด                                                                                                           

(2) การให้ประชาชนทั่วประเทศ ร่วมด้วยช่วยกันเปิดโปงกรณีการทุจริตในพื้นที่จังหวัดหรือท้องถิ่นของตน ด้วยการร่วมแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน ยกตัวอย่างกรณีโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โครงการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้าง โครงการขุดลอกลำคลองหรือก่อสร้างถนน ตลอดจนการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่สงวนหวงห้ามหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ป่าสงวน ป่าชายเลน หรือแม้กระทั่งชายหาด เป็นต้น                                                                                             

(3) การมีคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน อาทิ การนำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตน หรือการนำรถยนต์ EV ส่วนบุคคลมาชาร์จไฟในพื้นที่ราชการ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้มุ่งในการปรับฐานความคิดด้านการแยกแยะประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมให้ประสบผลสำเร็จโดยนำกรณีตัวอย่างที่ศาลได้มีคำพิพากษาเพื่อสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

(4) การร่วมกันตรวจสอบและติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในกรณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะของโรงเรียนเพื่อแลกกับสิทธิในการเข้าศึกษา การทุจริตนมโรงเรียน การฮั้วประมูลในโครงการต่าง ๆ หรือการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้านวัตกรรม เป็นต้น

          นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้ผลักดันให้เกิดกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดให้มีกลไกการคุ้มครองพยาน การกันบุคคลไว้เป็นพยาน การจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่เข้ามาชี้ช่อง แจ้งเบาะแส ให้ข้อมูล หรือให้ข้อเท็จจริง กระทั่งนำไปสู่           การพิพากษาดำเนินคดีและมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินจากการกระทำผิดนั้น ๆ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในการป้องกันการทุจริตกับภาคีต่าง ๆ เป็นต้น

          ปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ช. มีการจัดตั้งกลไกการกำกับติดตามการดำเนินงานที่ชัดเจนและต่อเนื่องในทุกภารกิจ ผ่าน ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของ สำนักงาน ป.ป.ช. (NACC Operation Command Center) ที่มีการประชุมเพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ ทำให้สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานได้ทันต่อสถานการณ์

          ทั้งนี้ การเดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการเดินหน้าป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต ยังคงต้องดำเนินไปอย่างเข้มข้นรอบด้าน ผ่านการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. เพราะปัญหาทุจริต นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับภาครัฐแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน เป็นปัญหาหลักที่ส่งผลต่อการถดถอยของเศรษฐกิจไทย และมีผลต่อเนื่องไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จึงต้องดำเนินตามหลักธรรมาภิบาล และทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม (Rule of Law) พร้อมกับการนำเทคโนโลยีเพื่อพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานภาครัฐให้เกิดความโปร่งใส เพื่อใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบ การทำงานในทุกกระบวนงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริตให้ได้มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งผลักดันภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล    ที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนในประเทศ ทั้งทางด้านของความโปร่งใส และการบริการภาครัฐที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

          พล.ต.อ.วัชรพล ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในวาระครบรอบ 24 ปี ของการสถาปนา สำนักงาน ป.ป.ช. วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 นี้ อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบแนวนโยบายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้แก่ การพัฒนาองค์กรและบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. เอง ที่จะต้องมุ่งเน้นทั้งด้านการพัฒนาระบบการทำงานในทุกภารกิจ และยกระดับคุณภาพบุคลากรในองค์กรให้ทำหน้าที่ด้วยความสุจริต เป็นธรรม และสร้างจิตสำนึกของการไม่ทนต่อพฤติการณ์การทุจริตในหน้าที่ เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง ด้วยการบูรณาการและขับเคลื่อนองค์กรที่สามารถเป็นที่พึ่งหรือสร้างความเชื่อถือให้กับประชาชน โดยยึดมั่นตามค่านิยมหลักของ สำนักงาน ป.ป.ช. “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้”

Related