Contrast
Font
e11216a856f51b62b5ddce9bc506b9fb.jpg

24 ปี ป.ป.ช. สานต่อเจตนารมณ์ “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 407

17/11/2566

24 ปี ป.ป.ช. สานต่อเจตนารมณ์ ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

ค่านิยมหลัก หรือที่เรียกว่า “Core values” คือสิ่งที่บุคลากรในองค์กรมีความเชื่อและแนวคิดร่วมกัน เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะขององค์กร และจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะเป็นรากฐานพฤติกรรมที่บุคลากรขององค์กรยอมรับและเห็นพ้องต้องกันว่า มีคุณค่า และยึดถือปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเป็นกิจวัตร กระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร เฉกเช่นเดียวกับหลักการที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส ในการต่อต้านกระบวนการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อนำเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดฐานทุจริตเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย มาตลอดระยะเวลา 24 ปีเต็ม โดยค่านิยมหลักของสำนักงาน ป.ป.ช. 5 ประการ ที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในองค์กรทุกคน คือ ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานต่อต้านการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีมาโดยตลอด 24 ปีเต็มว่า ปัจจุบันสังคมไทยเกิดความตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งแง่มุมของการให้เบาะแสข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการอันส่อไปในทางทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสของภาคประชาสังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยเวลานี้ ยังคงมีให้เห็นอยู่มากในทุกระดับและกระจายอยู่ในทุกพื้นที ดังนั้นการดำเนินงานของบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องมุ่งเน้นให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

          โดยทุกภารกิจจะต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและลดคดีทุจริตในภาพรวม โดยเฉพาะด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งด้านการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการทุจริต ให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนและสังคมได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานการดำเนินงานและคำนึงถึงการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ โดยเป้าหมายการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทุกภารกิจได้มีการหารือและเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการและกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานอย่างชัดเจน นอกจากนี้การบริหารจัดการภาระงานในทุกมิติจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้องและโปร่งใส

          สำหรับข้อสงสัยที่ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการกำหนด กลยุทธ์สำคัญ ในการดำเนินการเพื่อรับมือกับการทุจริตทุกภาคส่วนต่อไปในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรนั้น

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนด “ทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย ป้องนำปราบ โดยผลักดันการดำเนินงานป้องกันการทุจริตในทุกมิติตามมาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 35 ตลอดจนหมวด 6 มาตรา 126 ถึงมาตรา 129 ในการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงจังรวมถึงการขับเคลื่อน ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center: CDC) เพื่อเฝ้าระวัง ระงับยับยั้ง ป้องกัน และป้องปราม เพื่อลดการทุจริตให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ดั่งค่านิยมหลักขององค์กรที่ให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรของทุกคนยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

          เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการผลักดัน “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันกระบวนการทำงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะต้องพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบที่นำมาใช้สำหรับการดำเนินการประเมิน ITA ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะต้องพัฒนาความร่วมมือในการประเมิน ITA กับหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรม อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการประเมิน ITA กับสถานีตำรวจนครบาล และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการประเมิน ITA ระดับอำเภอ ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการประเมิน ITA ของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต

          ซึ่งทาง สำนักงาน ป.ป.ช. ก็จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน การรวบรวมเก็บข้อมูล สถิติ และผลจากการประเมิน ITA กับหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการหล่อหลอมให้เจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานต่าง ๆ มีฐานความคิดและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการทำงานด้วยความโปร่งใสภายใต้มาตรฐานเดียวกัน อันจะส่งผลโดยตรงต่อการ ยกระดับ “ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)” ของประเทศให้สูงขึ้นต่อไปในอนาคต

          สำหรับแผนงานและภารกิจสำคัญทั้งหมดของสำนักงาน ป.ป.ช. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น ถือเป็นการสานต่อเจตนารมย์อันสืบเนื่องมาจาก แผนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่กำหนดให้ภาครัฐเชื่อมโยงการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ผ่านการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ผ่านระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่การวิเคราะห์การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ พร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในเชิงการปฏิรูปกลไกและกระบวนการต่าง ๆ ของการปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ให้มีความรวดเร็วขึ้น ผ่านการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย มาช่วยพัฒนากลไกการดำเนินงานด้านการป้องปรามการทุจริตอย่างเป็นมาตรฐาน มีแบบแผน และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          และเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะยังคงร่วมกันเดินหน้าผลักดันและติดตามการดำเนินการในแผน ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนแม่บทของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การสร้างให้ข้าราชการหน่วยงานของรัฐและประชาชน ได้ตระหนักรับทราบและเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง และร่วมกันเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ที่จะก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นการทุจริตในทุกภาคส่วน จึงได้จัดทำโครงการ “โครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระดับชาติ” มาเป็นประจำทุกปี ควบคู่ไปกับการศึกษาทบทวนการดำเนินการ ตามประเด็นยุทธศาสตร์ “สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย”เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

          นอกจากนี้ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้กล่าวถึงประเด็นของ แนวทางการรับมือกับการทุจริตในอนาคต ว่า จะต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ต้องเรียนรู้ ตื่นรู้ รอบรู้ และมีศักยภาพในการคาดการณ์อนาคต โดยเฉพาะภาคการเมืองก็ต้องพัฒนาประเทศด้วยความโปร่งใส ปราศจากการคอร์รัปชัน พร้อมกับสนับสนุนให้เสริมสร้างทุกอำเภอ ทุกท้องที่ ทุกจังหวัดของประเทศไทยก้าวสู่การเป็น เมืองที่มีแต่ประชากรคุณภาพและสังคมชุมชนที่แข็งแรงตื่นตัวต่อการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ (Strong Citizen and Society)” รวมถึงทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ก็ต้องพร้อมจะพัฒนาไปสู่การเป็น เมืองหลวงที่แข็งแรง ใสสะอาด (Strong Smart Capital Bangkok)” และใช้เป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาประเทศให้เดินหน้าต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยยกระดับกลายเป็นประเทศที่ปลอดการทุจริตอย่างแท้จริงในอนาคต

          นอกจากนี้ ภาครัฐต้องดำเนินการลดขั้นตอนหรือกระบวนการที่เป็นช่องโหว่ เพราะตราบใดที่ยังมีขั้นตอนในการติดต่อราชการซับซ้อน ก็ยิ่งจะทำให้มีช่องทางของผู้ที่มีเจตนาทุจริตเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบได้อยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องมีกลไกในการเฝ้าระวังและเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้าง ดูแลงบประมาณ รวมถึงผู้รับจ้าง ภาคเอกชน ต้องยึดหลัก ความโปร่งใส (Transparency) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ดุลยพินิจพิจารณาอนุมัติเป็นกรณีพิเศษในลักษณะแบบผูกขาดผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้นำองค์กรในทุกระดับจะต้องมีเจตจำนงที่แน่วแน่ มีความซื่อสัตย์ยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ และสามารถตรวจสอบได้ (Accountability) ตามแผนการสร้างผู้นำแบบ “Tone at the top 

          ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสำนักงาน ป.ป.ช. แม้จะเป็นองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ แต่การจะขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าด้วยจุดยืนของการปราศจากการคอร์รัปชันอย่างเป็นผลสำเร็จตามเป้าหมายให้ได้ทั้งหมดนั้น ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้จากการผลักดันโดยองค์กรหรือหน่วยงานใดเพียงแค่หน่วยงานหรือองค์กรเดียว จึงจำเป็นจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทั้งด้านงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ การประสานงานร่วมกับสื่อมวลชนทุกแขนง รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมต่าง ๆ เองก็ตาม เพื่อขยายผลการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ด้านการต่อต้านการทุจริตไปสู่สังคมไทยให้ได้แพร่หลายและทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้ ตนเองและบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. ทุกคนพร้อมเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนทุจริต ภายใต้ค่านิยม ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อขจัดการทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย

Related