Contrast
Font
05c2cae9306b63feed54974f1231e66a.jpg

ป.ป.ช. แถลงข่าวกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในคดีสำคัญ จำนวน 4 เรื่อง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 11585

04/12/2566

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ จำนวน 4 เรื่อง

วันนี้ (4  ธันวาคม  2566) เวลา 10.00 น. นายศรชัย  ชูวิเชียร  ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้  

 

เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก รวม 6 ราย ว่าพิจารณาให้ผู้เสนอราคาบางรายไม่ผ่านคุณสมบัติในการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลา ถนนชลาทัศน์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทั้ง ๆ ที่มีผลงานลักษณะเดียวกันกับผู้ชนะการประกวดราคาและเสนอราคาต่ำกว่า

 

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหาดสมิหลา ที่จังหวัดสงขลา โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามประกาศ ลงวันที่ 25 มกราคม 2559 เอกสารเลขที่ 82/2559 ราคากลาง 269,900,000 บาท มีผู้ยื่นข้อเสนอและใบเสนอราคาจำนวน 4 ราย คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วยนายดนัย คำนึงเนตร นางจุฑามาศ อัชกุล นายจิรัฏฐ์ ลักษณะละม้าย และนายนคฤกษ์ คำม่วง ได้รายงานผลการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ ต่อนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ว่ากิจการร่วมค้านราบางกอก ซึ่งเสนอราคา 254,330,000 บาท ไม่ผ่านคุณสมบัติในการเข้าประกวดราคา เนื่องจากไม่ได้ยื่นผลงานประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาครั้งนี้ และเห็นควรจ้างบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด ซึ่งเสนอราคา 269,600,000 บาท เนื่องจากมีคุณสมบัติถูกต้องและเสนอราคาต่ำสุด ทั้งที่ผลงานของผู้เสนอราคาทั้งสองรายดังกล่าว ใช้เทคนิคการก่อสร้างเดียวกัน ประกอบกับในการพิจารณาดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ได้เห็นราคาของผู้ยื่นข้อเสนอก่อนหรือพร้อมกับการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ อันเป็นการมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ข้อ 37 (5) และ (6) ต่อมากรมเจ้าท่าได้เสนอเรื่องขออนุมัติจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ โดยเห็นควรจ้างบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด จนกระทั่งนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามเห็นชอบและอนุมัติ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 และกรมเจ้าท่า ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 แจ้งผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกิจการร่วมค้า นราบางกอก โดยกำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน แต่กลับปรากฏว่า กรมเจ้าท่า โดยนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เร่งรัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ กับบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ในวงเงินค่าจ้าง 269,600,000 บาท โดยที่มิได้รอระยะเวลาที่ให้กิจการร่วมค้า นราบางกอก อุทธรณ์ผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

  1. การกระทำของนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
  2. การกระทำของนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ นายดนัย คำนึงเนตร นางจุฑามาศ อัชกุล นายจิรัฏฐ์ ลักษณะละม้าย และนายนคฤกษ์ คำม่วง มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

 

เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหานายวิชัย ชิตยวงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่สุขเกษม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และนายวิเชียร สุทธิวิลัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เรียกรับเงิน จำนวน 600,000 บาท โดยอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้สอบบรรจุเข้าเป็นพนักงานส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลโตนด ประจำปี 2558

 

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ. 2558 นายวิชัย ชิตยวงษ์ และนายวิเชียร สุทธิวิลัย ได้ร่วมกันเรียกรับเงินจากบิดาของผู้ที่ประสงค์จะสอบบรรจุเข้ารับราชการรายหนึ่ง โดยแจ้งว่าองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดสุโขทัยจะเปิดรับสมัครสอบพนักงานส่วนตำบล และอ้างว่าสามารถช่วยเหลือบุตรให้สามารถสอบเข้าเป็นพนักงานส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลโตนดได้ โดยหากต้องการให้บุตรบรรจุเป็นข้าราชการตำแหน่งนิติกรระดับ 3 ในลำดับที่ 1 ต้องชำระเงินจำนวน 600,000 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้ง ในการช่วยเหลือให้สอบได้ จนกระทั่งบิดาของผู้ประสงค์จะสอบบรรจุเข้ารับราชการหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายวิชัย ชิตยวงษ์ จำนวน 7 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 600,000 บาท

ต่อมาหลังจากที่องค์การบริหารส่วนตำบลโตนดได้ประกาศเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุ เข้าเป็นพนักงานส่วนตำบล ประจำปี 2558 ตามประกาศลงวันที่ 21 กันยายน 2558 แล้ว ปรากฏว่า คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) จังหวัดสุโขทัย ไม่สามารถจัดจ้างสถาบันการศึกษามาดำเนินการออกข้อสอบได้ จนกระทั่งมีประกาศ คสช. ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นผลให้การสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นหน้าที่ของ ก.อบต. ดำเนินการ ก.อบต. จังหวัดสุโขทัยและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้มีหนังสือแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด     ยกเลิกการสอบแข่งขัน และองค์การบริหารส่วนตำบลโตนดได้ประกาศยกเลิกการสอบแข่งขันและคืนเงินแก่ผู้สมัครสอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

  1. การกระทำของนายวิชัย ชิตยวงษ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 และมาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169 และมาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92
  2. การกระทำของนายวิเชียร สุทธิวิลัย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม

การทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 และมาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169 และมาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย

เรื่องที่ 3 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กับพวก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้รับจ้างโครงการบูรณะซ่อมแซมสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งที่ผู้รับจ้างดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามสัญญา อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้างโดยมิชอบ

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 เกิดอุทกภัย ทำให้สะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทรุดตัวเสียหายและขาดออกจากกันความยาวประมาณ 52 เมตร นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี รับผิดชอบในจัดจ้างก่อสร้างสะพานไม้ทดแทนช่วงที่ได้รับความเสียหาย โดยใช้เงินบริจาคจากหน่วยงานและประชาชน กำหนดราคากลาง 16,400,000 บาท  และเนื่องด้วยเป็นความเสียหายที่เดือดร้อนชุมชน ประกอบกับใกล้ถึงฤดูน้ำหลาก จึงจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 โดยอนุโลม โดยนายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ได้ติดต่อและชักนำนายสมศักดิ์ สุวัฒนรัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ เข้ามาเป็นผู้รับจ้างโครงการนี้ และมีการจัดทำเอกสารเสมือนว่ามีผู้เข้าร่วมเสนอราคา 3 ราย คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วย นายถนอมพล ดอนไพรวัน  นายประมวล โพธิ์หล้า และนางสาวรัชณีย์ หรือรัชนีย์ ยี่โถหุ่น ได้พิจารณาเห็นควรคัดเลือก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด ทั้งที่มีการจัดทำหนังสือรับรองผลงานอันเป็นเท็จมาประกอบการเสนอราคา โดยไม่ได้ตรวจสอบถึงความถูกต้องของหนังสือรับรองผลงานดังกล่าว ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับจังหวัดกาญจนบุรี ตามสัญญาจ้างเลขที่ 0215/2557 ลงวันที่ 8 เมษายน 2557 วงเงิน 16,347,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 3 งวดงาน โดยผู้รับจ้างต้องเริ่มทำงาน ในวันที่ 9 เมษายน 2557 และต้องทำงานให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 หากล่าช้ามีค่าปรับวันละ 16,347 บาท แต่ปรากฏว่าผู้รับจ้างทำงานล่าช้า เนื่องจากไม่สามารถจัดหาไม้ตามชนิดที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ นายชัยวัฒน์
ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี จึงอนุมัติให้เพิ่มบัญชีไม้ชนิดอื่นมาใช้ในการก่อสร้าง โดยไม่ได้มีการจัดทำบัญชีเปรียบเทียบราคาไม้และยังไม่ผ่านการพิจารณาหรือความเห็นของผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้าง โดยผู้รับจ้างรับจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 กันยายน 2557 แต่จนกระทั่งใกล้ถึงกำหนดดังกล่าว ผู้รับจ้างก็ยังไม่ได้ส่งมอบงานงวดใด คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงได้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีในฐานะผู้ว่าจ้างว่าหากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ควรใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างและ
มีสิทธิผู้รับจ้างรายใหม่ได้ แต่แทนที่นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและแจ้งเวียนผู้รับจ้างเป็นผู้ทิ้งงาน ตามระเบียบของทางราชการ กลับแต่งตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อปัญหาฯ และต่อมามีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาประเมินราคาชดเชยฯ จนกระทั่งจังหวัดกาญจนบุรี โดยว่าที่ร้อยตรี กาศพล
แก้วประพาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้รับจ้าง โดยให้มีผลยกเลิกสัญญาเดิมและให้ผู้รับจ้างหยุดการก่อสร้างและส่งคืนพื้นที่ และให้ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้กับผู้รับจ้างในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วและชดเชยค่าไม้ที่ผู้รับจ้างเตรียมไว้ดำเนินการ รวมจำนวน 10,000,000 บาท ทั้งที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพของงานจ้างว่าเป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาจ้างหรือไม่ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง โดยปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่าผู้รับจ้างได้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตามข้อตกลงเดิม โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้ว่าจ้างชำระเงินให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ จำนวน 10,000,000 บาท ภายในวันที่ 26 มกราคม 2558 และจังหวัดกาญจนบุรี ได้เบิกจ่ายเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

  1. การกระทำของนายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ว่าที่ร้อยตรี กาศพล แก้วประพาฬ และนายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
    มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
  2. การกระทำของนายถนอมพล ดอนไพรวัน นายประมวล โพธิ์หล้า และนางรัชณีย์ หรือรัชนีย์ ยี่โถหุ่น ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
  3. การกระทำของนายสมศักดิ์ สุวัฒนรัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ และห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 268 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และส่งรายงานสํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจให้เป็นผู้มีลักษณะเป็นผู้ทิ้งงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

เรื่องที่ 4 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นให้ดำเนินการไต่สวน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายดนัย ดำรงชัยโยธิน นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่สรรพากรอำเภอ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กับพวกรวม 4 ราย ว่าร่ำรวยผิดปกติ

จากการไต่สวนพบว่า รายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ เงินฝากในธนาคารที่ได้มา โดยไม่สัมพันธ์กับรายได้ เกินกว่าฐานะและรายได้ที่ได้รับจากราชการ และไม่สามารถชี้แจงที่มาของรายการเงินฝากได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือ
ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมเป็นเงิน 2,085,348,581.53 บาท ดังนี้

  1. บัญชีเงินฝากจำนวน 7 บัญชี ของนายดนัย ดำรงชัยโยธิน รวม 1,189,273,347.48 บาท
  2. บัญชีเงินฝากจำนวน 5 บัญชี ของนางชลธาร คงมั่น รวม 559,946,602.03 บาท
  3. บัญชีเงินฝากจำนวน 3 บัญชี ของนางสาวดวงกมล ปลื้มสวาสดิ์ รวม 334,246,632.02 บาท
  4. บัญชีเงินฝากจำนวน 1 บัญชี ของนางสาวอุทุมพร เข็มวิชัย รวม 1,882,000 บาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

นายดนัย ดำรงชัยโยธิน นางชลธาร คงมั่น นางสาวดวงกมล ปลื้มสวาสดิ์ และนางสาวอุทุมพร เข็มวิชัย ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินจำนวน 2,085,348,581.53 บาท

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินและให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กรมสรรพากรดำเนินการลงโทษไล่ออก ในกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122

 

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

.........................................................................

การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด

ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

Related