จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 13964
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ จำนวน 4 เรื่อง
วันนี้ (4 ธันวาคม 2566) เวลา 10.00 น. นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก รวม 6 ราย ว่าพิจารณาให้ผู้เสนอราคาบางรายไม่ผ่านคุณสมบัติในการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลา ถนนชลาทัศน์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทั้ง ๆ ที่มีผลงานลักษณะเดียวกันกับผู้ชนะการประกวดราคาและเสนอราคาต่ำกว่า
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหาดสมิหลา ที่จังหวัดสงขลา โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามประกาศ ลงวันที่ 25 มกราคม 2559 เอกสารเลขที่ 82/2559 ราคากลาง 269,900,000 บาท มีผู้ยื่นข้อเสนอและใบเสนอราคาจำนวน 4 ราย คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วยนายดนัย คำนึงเนตร นางจุฑามาศ อัชกุล นายจิรัฏฐ์ ลักษณะละม้าย และนายนคฤกษ์ คำม่วง ได้รายงานผลการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ ต่อนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ว่ากิจการร่วมค้านราบางกอก ซึ่งเสนอราคา 254,330,000 บาท ไม่ผ่านคุณสมบัติในการเข้าประกวดราคา เนื่องจากไม่ได้ยื่นผลงานประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาครั้งนี้ และเห็นควรจ้างบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด ซึ่งเสนอราคา 269,600,000 บาท เนื่องจากมีคุณสมบัติถูกต้องและเสนอราคาต่ำสุด ทั้งที่ผลงานของผู้เสนอราคาทั้งสองรายดังกล่าว ใช้เทคนิคการก่อสร้างเดียวกัน ประกอบกับในการพิจารณาดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ได้เห็นราคาของผู้ยื่นข้อเสนอก่อนหรือพร้อมกับการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ อันเป็นการมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ข้อ 37 (5) และ (6) ต่อมากรมเจ้าท่าได้เสนอเรื่องขออนุมัติจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ โดยเห็นควรจ้างบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด จนกระทั่งนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามเห็นชอบและอนุมัติ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 และกรมเจ้าท่า ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 แจ้งผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกิจการร่วมค้า นราบางกอก โดยกำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน แต่กลับปรากฏว่า กรมเจ้าท่า โดยนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เร่งรัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ กับบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ในวงเงินค่าจ้าง 269,600,000 บาท โดยที่มิได้รอระยะเวลาที่ให้กิจการร่วมค้า นราบางกอก อุทธรณ์ผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหานายวิชัย ชิตยวงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่สุขเกษม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และนายวิเชียร สุทธิวิลัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เรียกรับเงิน จำนวน 600,000 บาท โดยอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้สอบบรรจุเข้าเป็นพนักงานส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลโตนด ประจำปี 2558
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ. 2558 นายวิชัย ชิตยวงษ์ และนายวิเชียร สุทธิวิลัย ได้ร่วมกันเรียกรับเงินจากบิดาของผู้ที่ประสงค์จะสอบบรรจุเข้ารับราชการรายหนึ่ง โดยแจ้งว่าองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดสุโขทัยจะเปิดรับสมัครสอบพนักงานส่วนตำบล และอ้างว่าสามารถช่วยเหลือบุตรให้สามารถสอบเข้าเป็นพนักงานส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลโตนดได้ โดยหากต้องการให้บุตรบรรจุเป็นข้าราชการตำแหน่งนิติกรระดับ 3 ในลำดับที่ 1 ต้องชำระเงินจำนวน 600,000 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้ง ในการช่วยเหลือให้สอบได้ จนกระทั่งบิดาของผู้ประสงค์จะสอบบรรจุเข้ารับราชการหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายวิชัย ชิตยวงษ์ จำนวน 7 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 600,000 บาท
ต่อมาหลังจากที่องค์การบริหารส่วนตำบลโตนดได้ประกาศเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุ เข้าเป็นพนักงานส่วนตำบล ประจำปี 2558 ตามประกาศลงวันที่ 21 กันยายน 2558 แล้ว ปรากฏว่า คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) จังหวัดสุโขทัย ไม่สามารถจัดจ้างสถาบันการศึกษามาดำเนินการออกข้อสอบได้ จนกระทั่งมีประกาศ คสช. ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นผลให้การสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นหน้าที่ของ ก.อบต. ดำเนินการ ก.อบต. จังหวัดสุโขทัยและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้มีหนังสือแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด ยกเลิกการสอบแข่งขัน และองค์การบริหารส่วนตำบลโตนดได้ประกาศยกเลิกการสอบแข่งขันและคืนเงินแก่ผู้สมัครสอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
การทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 และมาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169 และมาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย
เรื่องที่ 3 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กับพวก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้รับจ้างโครงการบูรณะซ่อมแซมสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งที่ผู้รับจ้างดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามสัญญา อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้างโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 เกิดอุทกภัย ทำให้สะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทรุดตัวเสียหายและขาดออกจากกันความยาวประมาณ 52 เมตร นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี รับผิดชอบในจัดจ้างก่อสร้างสะพานไม้ทดแทนช่วงที่ได้รับความเสียหาย โดยใช้เงินบริจาคจากหน่วยงานและประชาชน กำหนดราคากลาง 16,400,000 บาท และเนื่องด้วยเป็นความเสียหายที่เดือดร้อนชุมชน ประกอบกับใกล้ถึงฤดูน้ำหลาก จึงจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 โดยอนุโลม โดยนายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ได้ติดต่อและชักนำนายสมศักดิ์ สุวัฒนรัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ เข้ามาเป็นผู้รับจ้างโครงการนี้ และมีการจัดทำเอกสารเสมือนว่ามีผู้เข้าร่วมเสนอราคา 3 ราย คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วย นายถนอมพล ดอนไพรวัน นายประมวล โพธิ์หล้า และนางสาวรัชณีย์ หรือรัชนีย์ ยี่โถหุ่น ได้พิจารณาเห็นควรคัดเลือก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด ทั้งที่มีการจัดทำหนังสือรับรองผลงานอันเป็นเท็จมาประกอบการเสนอราคา โดยไม่ได้ตรวจสอบถึงความถูกต้องของหนังสือรับรองผลงานดังกล่าว ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับจังหวัดกาญจนบุรี ตามสัญญาจ้างเลขที่ 0215/2557 ลงวันที่ 8 เมษายน 2557 วงเงิน 16,347,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 3 งวดงาน โดยผู้รับจ้างต้องเริ่มทำงาน ในวันที่ 9 เมษายน 2557 และต้องทำงานให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 หากล่าช้ามีค่าปรับวันละ 16,347 บาท แต่ปรากฏว่าผู้รับจ้างทำงานล่าช้า เนื่องจากไม่สามารถจัดหาไม้ตามชนิดที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ นายชัยวัฒน์
ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี จึงอนุมัติให้เพิ่มบัญชีไม้ชนิดอื่นมาใช้ในการก่อสร้าง โดยไม่ได้มีการจัดทำบัญชีเปรียบเทียบราคาไม้และยังไม่ผ่านการพิจารณาหรือความเห็นของผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้าง โดยผู้รับจ้างรับจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 กันยายน 2557 แต่จนกระทั่งใกล้ถึงกำหนดดังกล่าว ผู้รับจ้างก็ยังไม่ได้ส่งมอบงานงวดใด คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงได้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีในฐานะผู้ว่าจ้างว่าหากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ควรใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างและ
มีสิทธิผู้รับจ้างรายใหม่ได้ แต่แทนที่นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและแจ้งเวียนผู้รับจ้างเป็นผู้ทิ้งงาน ตามระเบียบของทางราชการ กลับแต่งตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อปัญหาฯ และต่อมามีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาประเมินราคาชดเชยฯ จนกระทั่งจังหวัดกาญจนบุรี โดยว่าที่ร้อยตรี กาศพล
แก้วประพาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้รับจ้าง โดยให้มีผลยกเลิกสัญญาเดิมและให้ผู้รับจ้างหยุดการก่อสร้างและส่งคืนพื้นที่ และให้ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้กับผู้รับจ้างในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วและชดเชยค่าไม้ที่ผู้รับจ้างเตรียมไว้ดำเนินการ รวมจำนวน 10,000,000 บาท ทั้งที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพของงานจ้างว่าเป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาจ้างหรือไม่ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง โดยปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่าผู้รับจ้างได้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตามข้อตกลงเดิม โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้ว่าจ้างชำระเงินให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ จำนวน 10,000,000 บาท ภายในวันที่ 26 มกราคม 2558 และจังหวัดกาญจนบุรี ได้เบิกจ่ายเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และส่งรายงานสํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจให้เป็นผู้มีลักษณะเป็นผู้ทิ้งงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 4 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นให้ดำเนินการไต่สวน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายดนัย ดำรงชัยโยธิน นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่สรรพากรอำเภอ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กับพวกรวม 4 ราย ว่าร่ำรวยผิดปกติ
จากการไต่สวนพบว่า รายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ เงินฝากในธนาคารที่ได้มา โดยไม่สัมพันธ์กับรายได้ เกินกว่าฐานะและรายได้ที่ได้รับจากราชการ และไม่สามารถชี้แจงที่มาของรายการเงินฝากได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือ
ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมเป็นเงิน 2,085,348,581.53 บาท ดังนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
นายดนัย ดำรงชัยโยธิน นางชลธาร คงมั่น นางสาวดวงกมล ปลื้มสวาสดิ์ และนางสาวอุทุมพร เข็มวิชัย ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินจำนวน 2,085,348,581.53 บาท
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินและให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กรมสรรพากรดำเนินการลงโทษไล่ออก ในกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
.........................................................................
การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด
ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด