Contrast
Font
500318832909837177c6e2898dc0dc89.jpg

ซ้อนแผนรวบ “ศรีสุวรรณ จรรยา กับพวก” เรียกรับเงินอธิบดีกรมการข้าว 3 ล้าน แลกไม่ร้องเรียน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 871

26/01/2567

ซ้อนแผนรวบ “ศรีสุวรรณ จรรยา กับพวก” เรียกรับเงินอธิบดีกรมการข้าว 3 ล้าน แลกไม่ร้องเรียน

วันนี้ (26 มกราคม 2567) สำนักงาน ป.ป.ช. ภายใต้การอำนวยการของนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้ นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ นายไพโรจน์ นิยมเดชา ผู้อำนวยการกลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 2 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ร่วมกับกองบัญชาการสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และสำนักงาน ป.ป.ท. จับกุม นายศรีสุวรรณ จรรยา กรณีถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมร่วมกันร้องเรียนและเรียกรับเงินอธิบดีกรมการข้าว

 

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 อธิบดีกรมการข้าว เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ นายยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานเขตตรวจสอบราชการที่ 11 ตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี ที่ 9/2566 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 โดยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น การตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ โดยมีพฤติกรรมร่วมกับนายศรีสุวรรณ จรรยา กับพวก รวม 3 คน ร่วมกันกลั่นแกล้งร้องเรียนอธิบดีกรมการข้าว ว่าทุจริตงบประมาณของกรมการข้าว ทุจริตจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ของสมาชิกข้าวชุมชนจังหวัดนครราชสีมา โดยให้ภรรยาเปิดบริษัทเพื่อรองรับการทุจริต จัดซื้อ จัดจ้าง โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา ทำหน้าที่ยื่นเรื่องร้องเรียน และนายยศวริศ ชูกล่อม พร้อมกับพวก ได้ร่วมกันเรียกรับเงินจากอธิบดีกรมการข้าวและภรรยา เพื่อแลกกับการยุติการตรวจสอบติดตามการใช้งบประมาณภาครัฐ ผู้เสียหายเห็นว่าการกระทำของนายศรีสุวรรณ และนายยศวริศ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ตรวจสอบติดตามการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ สภาผู้แทนราษฎร แต่กลับเรียกรับทรัพย์สินจากตนเองและภรรยา โดยอ้างว่าจะนำจ่ายให้กับคณะกรรมาธิการฯ เพื่อไม่ต้องตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกรมการข้าว ซึ่งพฤติการณ์ทางการสืบสวนพบว่า นายศรีสุวรรณ ส่งหนังสือร้องเรียนกรมการข้าว ว่ามีการทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และได้ติดต่อให้อธิบดีกรมการข้าว และภรรยา ไปเจรจาเรื่องร้องเรียนกับนายศรีสุวรรณ ที่บ้าน   ของนายศรีสุวรรณ โดยได้เรียกรับเงิน จำนวน 3,000,000 บาท เพื่อยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าวและในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายยศวริศ คณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 กับ นายศรีสุวรรณ ได้ร่วมกันแถลงข่าวที่สภาผู้แทนราษฎร ให้บุคคลทั่วไปได้รู้และรับทราบร่วมกับคณะกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับกรมการข้าวมีการทุจริต อย่างมโหฬารหลักหมื่นล้าน ให้สื่อมวลชนติดตามเรื่อง จะนำข้อมูลมาเสนอต่อสื่อมวลชนและกรรมาธิการต่อไป และต่อมา นายยศวริศ ได้ติดต่ออธิบดีกรมการข้าว แจ้งว่าจะมาขอพูดคุยด้วยในเรื่องที่ได้แถลงข่าวร่วมกับนายศรีสุวรรณ จากนั้นนายยศวริศ ได้บอกให้อธิบดีกรมการข้าว ดูแลนายศรีสุวรรณ ไม่เช่นนั้นจะทำให้อธิบดีกรมการข้าวได้รับความเสียหาย กว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดหรือไม่ผิด ก็ได้รับความเสียหายแล้ว จากนั้น จึงมีการต่อรองกันเหลือ 1,500,000 บาท เพื่อแลกกับการไม่ให้มีการร้องเรียนอธิบดีกรมการข้าว โดยให้จ่ายก่อนปีใหม่ จำนวน 100,000 บาท ภรรยาของอธิบดีกรมการข้าว เกิดความกลัวว่าจะเกิดความเสียหาย และถูกร้องเรียนกลั่นแกล้งเพื่อให้รับโทษทางอาญา จึงได้ให้เงินไป 2 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 60,000 บาท และต่อมา น.ส.พิมณัฏฐา หรือเลขาตูน ได้ทวงเงินส่วนที่เหลือ โดยแจ้งว่านายยศวริศและนายศรีสุวรรณ จะนำไปจ่ายให้กับคณะกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐ สภาผู้แทนราษฎร อีกหลายส่วน แล้วเรื่องการร้องเรียนต่างๆ จะจบ จากนั้นเลขาตูน แจ้งกับภรรยาอธิบดีกรมการข้าวว่าภรรยานายศรีสุวรรณ แจ้งว่าให้นำเงินส่วนที่เหลือไปให้นายศรีสุวรรณที่บ้าน

 

ทางการสืบสวนเพิ่มเติมพบพยานหลักฐานเชื่อได้ว่านายยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) นายศรีสุวรรณ จรรยา น.ส.พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ หรือเลขาตูน (เลขานายยศวริศ) ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามพฤติการณ์ดังกล่าวจริง สำนักงาน ป.ป.ช. บก.ป.ป.ป. และสำนักงาน ป.ป.ท. จึงได้สนธิกำลังวางแผนปฏิบัติการร่วมกันให้ภรรยาอธิบดีกรมการข้าวนำเงินตามที่มีการเรียกรับส่วนที่เหลือไปให้ตนเองที่บ้าน ในวันที่ 26 มกราคม 2567 ตามเวลานัดหมาย นายศรีสุวรรณได้แจ้งให้ภรรยาอธิบดีกรมการข้าวนำเงินไปมอบให้ที่บ้านของนายศรีสุวรรณ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ทำการแสดงตัว เข้าทำการจับกุมและตรวจค้นบ้านของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจะทำการสืบสวนขยายผลรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และนำตัวผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวน บก.ป.ป.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

อนึ่ง โดยที่เรื่องนี้ บก.ปปป. เมื่อได้รับคำร้องทุกข์แล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคำกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนส่งมา จึงมีมติส่งเรื่องคืนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

     .................................................................................

 

            “ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ”

Related