Contrast
Font
c568a38e1767e282b2bc66b649dd37e6.jpg

การคุ้มครองช่วยเหลือพยานของสำนักงาน ป.ป.ช.

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 4964

11/07/2566

          การคุ้มครองพยานเป็นภารกิจที่สําคัญ ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมของไทยดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะด้วยคดีการทุจริตมีลักษณะเป็นอาชญากรรมซ่อนเร้น ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่จะมีผู้เสียหายจากการกระทําผิดมาร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานเพื่อให้มีการดําเนินคดีและลงโทษผู้กระทําผิด แต่การทุจริตคอร์รัปชันมักเป็นเรื่องที่รู้เห็นกันเฉพาะผู้ให้และผู้รับ เป็นการยากที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนําเรื่องดังกล่าวออกเปิดเผยหรือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงาน เพราะจะทําให้ตนเองได้รับความเดือดร้อนเสียหายไปด้วย โดยเฉพาะพยานบุคคลเมื่อมีความสําคัญในคดีมากเท่าไร ก็มีโอกาสถูกข่มขู่คุกคาม หรือประทุษร้ายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้กระทําผิดต้องการขจัดผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่อาจพิสูจน์ความผิดของผู้กระทําความผิดนั้นได้หรือไม่ก็ทําให้พยานเกิดความเกรงกลัวจนกลับคําให้การของตน

ใครบ้างมีสิทธิขอคุ้มครองพยาน

  • ผู้กล่าวหา
  • ผู้เสียหาย
  • ผู้ทำคำร้อง
  • ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
  • หรือให้ถ้อยคำ หรือ ผู้ที่แจ้งเบาะแส
  • การคุ้มครองพยานยังหมายรวมถึงคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ร้องขอด้วย

 

ขั้นตอนการร้องขอคุ้มครองพยาน

  1. การยื่นคำร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ผู้ร้องขอสามารถกระทำได้ ดังต่อไปนี้

          1.1 ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานด้วยตนเองต่อสำนักงานตามแบบที่สำนักงานกำหนด

          1.2 ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองช่วยเหลือพยานและให้หน่วยงานดังกล่าวประสานการปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือพยานกับสำนักงาน

  • ในกรณีเร่งด่วนหากผู้ร้องขอไม่สามารถมายื่นคำร้องได้ด้วยตนเอง ให้ทำเป็นหนังสือ หรือจดหมาย หรือทางเครื่องมือสื่อสารอื่น ได้แก่ โทรศัพท์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจมอบอำนาจ ให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน โดยต้องระบุชื่อ สกุล และที่อยู่ของผู้ร้องขอ ตลอดจนพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าอาจไม่ได้รับความปลอดภัย และต้องลงลายมือชื่อ หรือระบุชื่อผู้ร้องขอ แล้วแต่กรณี
  • ในกรณีผู้ร้องขอ ได้ยื่นคำร้องขอต่อหน่วยงานอื่น และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือพยานในทันที ก็ให้หน่วยงานนั้นดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือพยานตามความจำเป็นเร่งด่วนไปพลางก่อน เพื่อจัดให้ผู้ร้องขอได้รับความคุ้มครองตามสมควร
  • ในกรณีที่สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้บุคคลใดได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือพยานโดยบุคคลดังกล่าวไม่ได้ร้องขอ และเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน ให้สำนักงานดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือพยานได้ แต่ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวให้ความยินยอม และให้มีการรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบหรือมีมติโดยเร็ว

 

  1. การรายงานผลการพิจารณาคําร้องพร้อมความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.

เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับคำร้อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้มีการคุ้มครองช่วยเหลือพยานโดยเร็ว ดังนี้

  1. บันทึกปากคำผู้ร้องขอและความยินยอมไว้เป็นหนังสือตามแบบที่สำนักงานกำหนด
  2. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องว่ามีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าผู้ร้องขอจะไม่ได้รับความปลอดภัย หรือเหตุอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน และให้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณามีมติ
  3. กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องให้มีการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ร้องขอในทันที่ ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อมีมติ ให้สำนักงานจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ร้องขอเป็นการชั่วคราวตามเห็นสมควร และให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้มีมติโดยเร็ว

 

  1. วิธีการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน

1) จัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครอง ณ ที่พักอาศัยหรือสถานที่ที่พยานร้องขอ

2) จัดให้พยานอยู่หรือพักอาศัยในสถานที่ที่สำนักงานกำหนด

3) จัดให้มีมาตรการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้

4) จัดให้มีการติดต่อ สอบถามความเป็นอยู่หรือตรวจสถานที่ที่อยู่หรือพักอาศัยอย่างสม่ำเสมอ

5) แจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือหน่วยงานอื่น ดำเนินการให้การคุ้มครองความปลอดภัย

6) ดำเนินการด้วยวิธีการอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ

  • เมือมีมติให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ให้แจ้งเป็นหนังสือให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ เป็นผู้คุ้มครองความปลอดภัย
  1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  2. สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
  3. หน่วยงานอื่นตามที่เห็นสมควร

 

  1. การสิ้นสุดการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน

1) พยานถึงแก่ความตาย

2) พยานร้องขอให้ยุติการคุ้มครองช่วยเหลือหรือขอเพิกถอนความยินยอม

3) พยานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร

4) พฤติการณ์แห่งความไม่ปลอดภัยของพยานเปลี่ยนแปลงไป และกรณีไม่มีความจำเป็นจะต้องให้ความคุ้มครองอีกต่อไป

5) พยานไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่มาให้ถ้อยคำเป็นพยานโดยไม่มีเหตุสมควร หรือไม่ไปเบิกความหรือไปเบิกความแต่ไม่เป็นไปตามที่ให้การหรือให้ถ้อยคำไว้ หรือไปเบิกความเป็นพยานแต่ไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาหรือเป็นปฏิปักษ์

6) เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ได้รับแจ้งจากหน่วยงานอื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งให้ดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือพยานว่า การคุ้มครองช่วยเหลือพยานสิ้นสุดลง เนื่องจากปรากฏเหตุตามข้อ 1) – 4)

7) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้การคุ้มครองช่วยเหลือพยานสิ้นสุดลง

 

  1. ค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน และค่าทดแทน
  • การเบิกจ่ายให้ดำเนินการเป็นความลับ โดยตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นสำหรับการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน
  • ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของพยานเพราะเหตุมีการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาอันเนื่องมากจากการที่พยาน จะมาหรือได้มาเป็นพยานเพื่อให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือในชั้นพิจารณาของศาล ให้พยานมีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่จำเป็น ละสมควรตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญาด้วย
  • การเบิกจ่ายในการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน และค่าทดแทน ให้เบิกในอัตราที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด หรือตามที่ทางราชการกำหนดไว้

เพิ่มข้อมูลการติดต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

 

 

Related