จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1045
สำนักงาน ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน”
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรมจัดโครงการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (โครงการส่งเสริมและบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช.) กิจกรรมที่ 1 การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการหรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หัวข้อ “การดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน” ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชัน โฮเทล ถนนรัตนาธิเบศร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และร่วมบูรณาการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี และเพื่อรับฟังผลการดำเนินการตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนปัญหา อุปสรรค ของหน่วยงาน
ประเด็นหรือเรื่องในการประชุมเชิงปฏิบัติการ
การประชุมในช่วงเช้า นางสาวลัดดา เดือนสว่าง ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ได้กล่าวต้อนรับและชี้แจงที่มาและวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการแก่ผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “การดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ท่าน ดังนี้
1. นายชาญณรงค์ ศรีจันทร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. นายกิติกรณ์ เจนไพบูลย์ กรมปศุสัตว์
3. นายเดชา พิสุทธิ์วงศกร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
4. นางวรกมล นพคุณ ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร และดำเนิน
การเสวนาโดย นายสุทธินันท์ สาริมาน อดีตผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการเสวนาครั้งนี้วิทยากรแต่ละท่านได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสภาพปัญหาของการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ การดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันการทุจจริตในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตกรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในระยะต่อไป
การประชุมในช่วงบ่าย เป็นการระดมความคิดเห็น หัวข้อ “ปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม” ดำเนินรายการโดย นายสุทธินันท์ สาริมาน อดีตผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยถึงปัญหา อุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณาและขับเคลื่อนการดำเนินงานจัดทำแนวทางมาตรการหรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพิ่มเติม
สรุปข้อมูลของผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยบุคลากรภาครัฐ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 37 คน ได้แก่
1) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 2 คน
2) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 1 คน
3) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 2 คน
4) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.) จำนวน 2 คน
5) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 (สพป.นนทบุรี เขต 1) จำนวน 3 คน
6) โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ จำนวน 2 คน
7) โรงเรียนอนุบาลนนทบุรี จำนวน 2 คน
8) โรงเรียนพัฒนวิทย์ จำนวน 1 คน
9) โรงเรียนชลประทานวิทยา จำนวน 2 คน
10) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 2 คน
11) กรมปศุสัตว์ จำนวน 2 คน
12) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จำนวน 3 คน
13) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จำนวน 1 คน
14) เทศบาลนครนนทบุรี จำนวน 2 คน
15) กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 คน
16) สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ได้แก่ สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และสำนักสื่อสารองค์กร จำนวน 8 คน
ผลจากการมีส่วนร่วม
1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้ทราบแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมระดมความคิดเห็น และนำเสนอข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในระยะต่อไป
3) สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทราบผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรค ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การนำผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน
สำนักงาน ป.ป.ช. นำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ไปปรับปรุงพัฒนาคู่มือ/แนวทางการตรวจเยี่ยม ติดตาม และสังเกตการณ์ โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และนำผลจากการประชุมไปปรับปรุงพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในระยะต่อไป
“ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้”