Contrast
Font
6e35281fb5ebd32a6e5895744966c252.jpg

ป.ป.ช. ปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ป้องกันปัญหาทุจริตในประเทศ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 494

20/02/2567

          การทุจริตคอร์รัปชันเป็นภัยร้ายที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับประเทศชาติ และแทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกระดับในประเทศไม่ว่าจะเป็นระดับราชการ ตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนถึงระดับสูงของประเทศ

          การที่จะป้องกันปัญหาการทุจริตในระดับพื้นที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้สนับสนุนโครงการ STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โครงการนี้ขยายผลความคิด จิตสำนึก และเรียนรู้เกี่ยวกับการจับตามองและแจ้งเบาะแสการทุจริตอย่างกว้างขวาง ทำให้มีข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตในระดับพื้นที่มากขึ้น และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนกับสำนักงาน ป.ป.ช. ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาวิเคราะห์ เพื่อใช้ป้องกัน ปราบปราม และยับยั้งการทุจริตอย่างเป็นระบบทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ

          โครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2563 เป็นการริเริ่มโครงการเพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และแสดงข้อมูลจากภาคประชาชนผ่านเครื่องมือการประเมินความเสี่ยง โดยนำมาประมวลและแสดงผลผ่านรูปแบบแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อยับยั้งการทุจริต เช่น การแจ้งเตือนโครงการหรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทุจริตสูง และรวบรวมข้อมูลในระดับพื้นที่ การใช้ข้อมูลนี้ในการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ การป้องกันการทุจริตในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ โดยการนำข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงไปศึกษา วิจัย และพัฒนามาตรการใหม่หรือปรับปรุงมาตรการเดิม ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดการทุจริตในด้านนั้น ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยนำข้อมูลเหล่านี้ไปขยายผลและใช้ประโยชน์จากแผนที่ในการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ เช่น การใช้ข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตที่มีจริงในหลายพื้นที่ ไปศึกษา วิจัย และพัฒนามาตรการใหม่หรือปรับปรุงมาตรการเดิมเพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมายหรือระบบการปฏิบัติงาน โดยมีข้อมูลประกอบจากพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดการทุจริตในประเด็นนั้น ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ ยังนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงไปบูรณาการกับภาคีอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น หากปรากฎข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตสูง และมีข้อมูลประกอบที่ชัดเจน จะเป็นฐานข้อมูลให้กระบวนการด้านการสืบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำไปประกอบในการไต่สวนคดีทุจริต ในกระบวนการของการปักหมุดพื้นที่เสี่ยง ได้กำหนดแนวทางในการติดตามความคืบหน้าข้อมูลหมุดเดิม ว่ามีการดำเนินการหรือพบปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร มีการแก้ไขปัญหาตามประเด็นหมุดความเสี่ยงนั้น ๆ ได้หรือไม่ หากหมุดนั้น ๆ สามารถแก้ไขหรือลดความเสี่ยงได้สำเร็จโดยความร่วมมือของสำนักงานป.ป.ช. ประจำจังหวัด ร่วมกับเครือข่าย STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต   

จากความร่วมมือดังกล่าวที่ขับเคลื่อนการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566   ในระดับพื้นที่ ประเด็นความเสี่ยงระดับภาคและระดับจังหวัด พบประเด็นความเสี่ยง 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 39 ประเด็น ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ อาทิ

- การใช้งบประมาณก่อสร้างซ่อมแซมถนน และอาคารสถานที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้โครงการเสริมสร้างความเขมแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

- การใช้งบประมาณรายจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับถนนและแหล่งกักเก็บน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย หรือเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 

- การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าตามบัญชีนวัตกรรมไทย (ประปาและเสาไฟฟ้าส่องสว่าง)

- การก่อสร้างอาคารสถานที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการแล้วเสร็จแต่ไม่มีการใช้งาน หรือดำเนินการก่อสร้างมานานแต่ยังไม่แล้วเสร็จ

  1. 2. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 33 ประเด็น ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ อาทิ

- การบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน พื้นที่ชลประทาน และที่ดินของรัฐที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน (นสล.) ฯลฯ

- การลักลอบตัดไม้ การลักลอบเผาป่า

- การออกเอกสารสิทธิ์ การให้สิทธิ์ทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ การจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

- การประกอบกิจการท่าทราย การลักลอบดูดทราย

- การล่วงล้ำลำน้ำ การประกอบกิจการประมงหรือกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งน้ำสาธารณะ

  1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตอื่น ๆ จำนวน 14 ประเด็น อาทิ การใช้ทรัพย์สินของทางราชการ การใช้จ่ายงบประมาณต่อเนื่องโครงการโคกหนองนาโมเดล (แปลงใหญ่ศูนย์เรียนรู้) การบังคับใช้กฎหมาย การเรียกรับสินบน เป็นต้น

          การปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต จะช่วยให้เกิดความร่วมมือของภาคประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและเป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางเฝ้าระวังการทุจริตในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถนำประเด็นความเสี่ยงมาจัดทำเป็นหลักสูตร มาตรการ แนวทาง รวมถึงเครื่องมือในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐในระดับพื้นที่ ตลอดจนสร้างกลไกการรับรู้และเข้าใจถึงภัยของการทุจริตในสังคมต่อไป

 

Related