Contrast
Font
5df6f9f3da86a978d29af888dc693ec0.jpg

เครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กร ที่เรียกว่า “ITA”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 234

20/03/2567

ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปี

โดยสามารถตอบแบบสำรวจได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567
Click: https://itas.nacc.go.th/go/eit/o7pt7g

 

เครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กร ที่เรียกว่า “ITA”


ก้าวเข้าสู่ปี 11 ที่ประเทศไทยมีเครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กรภาครัฐ ที่เรียกว่า “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment หรือ การประเมิน ITA) ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงบวกมาตรฐานสำคัญ ที่มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์มากกว่ามุ่งจับผิด เปรียบเสมือนเครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กรประจำปี เป็นเครื่องมือที่หน่วยงานภาครัฐได้สำรวจและประเมินตัวเอง เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลอันส่งผลให้เกิดความตระหนักและปรับปรุงการบริหารงานและกำกับดูแลการดำเนินงาน ให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้ การประเมิน ITA ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของหน่วยงานภาครัฐในทางปฏิบัติที่ชัดเจน และที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาด้านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานตนเองให้ทันสมัย น่าสนใจ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการจัดระบบระเบียบ และเตรียมความพร้อม ในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ประชาชนได้รับทราบ และที่สำคัญไปกว่านั้น การประเมิน ITA ยังเป็นเครื่องมือ ที่ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสะท้อนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารงานภาครัฐ เพื่อที่ประชาชนจะได้รับการบริการที่ดีจากภาครัฐ และส่งผลให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม และตรวจสอบการดำเนินการงานของภาครัฐได้มากขึ้นอีกด้วย


การประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ได้มีความพยายามที่จะพัฒนา ให้การประเมิน ITA ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการประเมิน ITA ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐได้มี การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ การประเมิน ITA จึงยังคง มีกรอบแนวทางในการประเมินเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่มีการพัฒนาในระดับดีแล้วยังคงรักษามาตรฐานการดำเนินงานและการปฏิบัติให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และหน่วยงานที่ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงได้สามารถพัฒนาให้มีมาตรฐานเดียวกันกับทุกหน่วยงานทั่วประเทศได้ นอกจากนี้ การประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการประเมินเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา


เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการ เรื่อง "ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญต่อประเทศและประชาชนอย่างไร" จัดโดยคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา โดยมีช่วงหนึ่งของการสัมมนาโดย พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ITA ไว้อย่างน่าสนใจ เกี่ยวกับผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปี พ.ศ. 2566 ในภาพรวมระดับประเทศ พบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน ซึ่งมีทิศทางแนวโน้นที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนนหรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 6,737 หน่วยงาน คิดเป็นสัดส่วน 80.94 % ของหน่วยงานทั้งหมด 8,323 หน่วยงาน โดยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 10.42 % ซึ่งหน่วยงานที่นอกจากจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ 8,323 หน่วยงานแล้ว ยังมีหน่วยงานรัฐส่วนอื่น คือ สถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,484 สถานี เขตในกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 เขต และอำเภอทั่วประเทศ จำนวน 878 อำเภอ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ได้ขอเข้าร่วมรับการประเมิน ITA เพื่อตรวจสุขภาพองค์กรของตนเอง ว่ามีความพร้อมในการให้บริการประชาชนมากน้อยเพียงใดอีกด้วย


ตัวอย่างความสำเร็จของการนำเครื่องมือ ITA ไปตรวจสุขภาพองค์กร
ยกตัวอย่างหน่วยงานที่ยกระดับมาตรฐานภาครัฐด้วย ITA คือ จังหวัดลพบุรี ในการดำเนินงานของจังหวัดลพบุรีสะท้อนถึงความสำเร็จหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของผู้บริหารที่ให้ความสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการการประเมิน ITA ให้เป็นวาระของจังหวัด การบูรณาการทำงานของหน่วยงานภายในจังหวัดภายใต้โมเดลพี่สอนน้อง และการปลูกฝังแนวคิดว่าการสร้างองค์กรที่โปร่งใสเป็นสิ่งพื้นฐานที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ ต้องทำให้การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำต่อเนื่องตลอดปี ไม่ใช่เฉพาะแต่ช่วงที่มีการประเมิน ITA และไม่ใช่ทำเฉพาะ เพียงแค่ต้องการได้คะแนน ITA แต่ต้องการให้หน่วยงานรู้จุดอ่อนของตนเองแล้วแก้ไข รู้จุดแข็งของตนเองแล้วพัฒนาขึ้นอีก


โดยนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร เมื่อครั้งที่ท่านดำรงผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ในปี พ.ศ. 2565 ให้ความเห็นว่า เมื่อมีการประเมิน ITA ทำให้หน่วยงานมีการทำงานง่ายขึ้น ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ทำให้จังหวัดลพบุรีประสบความสำเร็จ เจ้าหน้าที่เกิดการตื่นตัว มีการปรับรูปแบบการทำงาน หน่วยงานราชการแต่ละหน่วยมีการแข่งขันกันทำงาน และเมื่อเกิดการแข่งขันกัน ประโยชน์ที่ได้ก็คือ ประชาชน เพราะประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งเครื่องมือ ITA ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือเป็นมาตรฐาน สามารถการันตีได้ว่า หน่วยงานราชการทุกหน่วย พื้นฐานต้องผ่านการประเมิน ITA ซึ่งทำให้เกิดการตื่นตัวและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และผู้ว่าฯ ยังเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อครั้งที่คะแนน ITA ต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ได้นำข้อมูลปัญหามาวิเคราะห์ จึงได้มีการติดต่อไปที่ Clinic ITA เพื่อขอคำแนะนำ และได้มีการประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้ปฏิบัติงาน ให้เข้ามาร่วมฟังประชุม เพื่อสร้างความเข้าใจในวิธีการประเมิน ITA ทั้งกระบวนการ และเมื่อทุกคนเข้าใจบริบทของ ITA และการยกระดับการบริหารจัดการการประเมิน ITA ให้เป็นวาระของจังหวัด จังหวัดลพบุรีก็เริ่มขับเคลื่อน ITA ทันที


ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี ได้ให้ความเห็นในแง่ผู้ประกอบการที่ต้องติดต่อใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ว่า เรื่องการขออนุมัติ อนุญาต ซึ่งแต่ก่อนเมื่อต้องขออนุญาต 1 เรื่อง จะต้องเดินทางเพื่อไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึง 5-6 ครั้ง และอาจจะต้องเจอเจ้าหน้าที่ 5-6 คน เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จ แต่พอได้มีระบบ e-service มาใช้ ทำให้การติดต่อหน่วยงานสะดวกมากขึ้น เดินทางเพียงแค่ครั้งเดียว ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและขั้นตอนต่าง ๆ ลดลงได้พอสมควร และให้ความเห็นต่อว่า ITA สามาถช่วยภาคประชาชนได้ คือ คนที่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการขั้นตอนการติดต่อเจ้าหน้าที่ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้นได้ เมื่อมีส่วนร่วมกันมากขึ้น ความคิดต่าง ๆ ก็จะตรงกัน ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากขึ้น และเมื่อหน่วยงานได้รับการพัฒนาให้มีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น ประชาชนก็จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง


จากกรณีตัวอย่างของจังหวัดลพบุรี จึงนับว่าเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐภายในจังหวัดมีคุณธรรม มีธรรมาภิบาล สร้างให้เกิดรากฐานที่ยั่งยืน และปลายทางที่สุดก็คือการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ขยายผลต่อยอดการประเมิน ITA
การประเมิน ITA ได้มีการขยายผลต่อยอดการประเมิน ITA ลงไปยังหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรมด้วย โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการต่อยอดขยายผล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต 50 แห่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานีตำรวจนครบาล 1,484 สถานี ประสานความร่วมมือกับกรมการปกครอง อำเภอ 878 อำเภอ


นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐอีกเป็นจำนวนมากที่ได้มีการจัดตั้งงบประมาณเป็นของตนเองและริเริ่มนำเครื่องมือการประเมิน ITA ไปใช้ดำเนินการประเมินสำนัก/กองภายในของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น
1) กระทรวงสาธารณสุข นำไปใช้ประเมินเขตสุขภาพ และโรงพยาบาลทั่วประเทศ
2) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำไปใช้ประเมินสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน
3) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำไปใช้ประเมินสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
4) มหาวิทยาลัยมหิดล นำไปใช้ประเมิน คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก/สถาบัน/ศูนย์วิชาการ/วิจัย/กอง
5) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำไปใช้ประเมิน คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก/สถาบัน/ศูนย์วิชาการ/วิจัย/กอง

ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment หรือ การประเมิน ITA) สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้มุ่งเน้นให้หน่วยงานที่เข้ารับการประเมินปฏิบัติเพียงเพื่อให้ได้รับผลการประเมินที่สูงขึ้นเพียงเท่านั้น แต่มุ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับปรุงพัฒนาตนเองในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ มีการดำเนินงานที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวมเป็นสำคัญ และลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

ในโอกาสนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐประจำปี ด้วยการตอบแบบสำรวจออนไลน์ทางเว็บไซต์ itas.nacc.go.th โดยค้นหารายชื่อหน่วยงานที่ท่านเคยติดต่อหรือรับบริการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยสามารถตอบแบบสำรวจได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567

มาร่วมกันสะท้อนภาพความโปร่งใสของราชการไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้นำข้อเสนอแนะที่ได้ จากประชาชนและผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐไปใช้ปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานของหน่วยงานให้มีความโปร่งใสและ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทยต่อไป

Related