Contrast
Font
55b725a86c2027c9a6b576dedb7ab823.jpg

กฎหมายใหม่ ป.ป.ช. เข้มข้น จริงจัง ปราบทุจริต

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1680

06/05/2566

          สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  หรือ ป.ป.ช. มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประกาศใช้ ตั้งแต่ ปี 2542 ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมตลอด เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย ที่การประพฤติมิชอบในภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลง และให้เท่าทันการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น 

          สำนักงาน ป.ป.ช. มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ..... ที่รอรับฟังความคิดเห็น ซึ่งร่างที่อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงนี้ มีการจัดทำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในด้านที่ 6 การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริต ประพฤติมิชอบ มีประสิทธิภาพ เด็ดขาด เป็นธรรมและตรวจสอบได้ มีการลงโทษผู้กระทำผิดกรณีทุจริตประพฤติมชอบอย่างจริงจังและรวดเร็ว รวมทั้งเพื่อประสิทธิภาพการประสานงานการป้องและปราบปรามการทุจริต พัฒนาระบบงานและโครงสร้างที่เอื้อต่อการบูรณาการและมุ่งผลสัมฤทธิ์ และยังสอดรับกับแผนปฏิรูปประเทศ ในด้านที่ 11 การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อกำหนดให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการประพฤติมิชอบในภาครัฐ อันจะนำไปสู่การลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ และเพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการ และกลไกในการดำเนินคดีทุจริตที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ

           ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2561 สาระสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกลไกและมาตรการติดตามทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิดคืนทั้งที่อยู่ในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อนำทรัพย์สินนั้นกลับมาเป็นของแผ่นดิน และลดช่องทางการทุจริต โดยยกเลิกมาตรา (5) ของมาตรา 34 และเพิ่มมาตรา 34/1 เพิ่มกลไกในการดักฟัง การเข้าถึงข้อมูล การแฝงตัว และการสะกดรอย เพื่อการอนุวัติ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (UNCAC) ข้อบทที่ 50 หมายถึง การดำเนินการให้เป็นผลตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา โดยการตรากฎหมายภายในประเทศ หรือปรับแก้กฎหมายภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการดำเนินคดีทุจริต สามารถทำการตรวจสอบไต่สวนโดยวิธีพิเศษ โดยเพิ่มมาตรา 34/2 การดักฟัง, 34/3 การแฝงตัว และ 34/4 การสะกดรอย ซึ่งหากขาดเครื่องมือเหล่านี้ อาจทำให้มีข้อจำกัดในการติดตามตัวผู้กระทำทุจริตมาลงโทษได้

แต่อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายในมาตรา 34 นี้ หากจำกันได้ ในปี พ.ศ. 2560 ป.ป.ช. เคยเสนอให้ตัวเองมีอำนาจในการดักฟัง แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ไม่เห็นด้วยและอภิปรายตั้งคำถามอย่างหนักจนป.ป.ช. ต้องยอมถอนเนื้อหามาตราดังกล่าวออกจากร่างกฎหมาย แต่ในร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช ฉบับนี้ มีการเสนอเรื่องการดักฟังกลับมาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตและร่างกาย สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมทั้งสิทธิในการรับทราบข้อมูลสาธารณะในการครอบครองของหน่วยงานรัฐ และยังส่งผลกระทบต่อสำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับอำนาจในการติดตามทรัพย์สินคืน ตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทาง อาญา และกฎหมายอื่น ๆ ในการเป็นผู้ประสานงานกลางเกี่ยวกับการติดตามทรัพย์สินคืนในต่างประเทศด้วย

การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากไม่พบมูลความผิดทางอาญาเมื่อมีการชี้มูลความผิด ทางวินัย จะต้องสัมพันธ์กับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วย ดังนั้นในร่างกฎหมายดังกล่าวได้เพิ่มมาตรา 91/1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวนคดีเรื่องใดแล้ว และผลการไต่สวนตามมาตรา 91 ไม่มีมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้น มีมูลความผิดทางวินัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาได้ในทุกฐานความผิดตามที่ไต่สวนได้ความ และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ตามมาตรา 91 (2) ต่อไป ทั้งนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจสั่งลงโทษดำเนินการตามมาตรา 98

ขณะเดียวกันยังแก้ในประเด็นเรื่องการอุทธรณ์คดี จากเดิมหากส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งฟ้อง หากศาลพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใด อัยการสูงสุดไม่อุทธรณ์หรือฎีกาต่อ คดีก็จะตกไป แต่ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ มีการแก้ไขมาตรา 94 เมื่อศาลที่มีเขตอำนาจพิพากษาในคดีที่ อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ตามสำนวนที่ได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว หากอัยการสูงสุดจะไม่อุทธรณ์หรือฎีกา ให้อัยการสูงสุดหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน หากมีความเห็นต่างกันและไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจพิจารณาดำเนินการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาของศาลได้เสมือนเป็นโจทก์ในคดี

มาตรานี้มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มความชัดเจนในการดำเนินกระบวนการ เพื่อให้อำนาจ ป.ป.ช. มีอำนาจในการเป็นโจทก์ยื่นอุธรณืได้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการระบุในกฎหมายอย่างเป็นทางการ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเอง ในคดีทุจริตสำคัญที่ศาลให้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และเป็นคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในประเด็นการป้องกันการทุจริต มีการเพิ่มกลไกและมาตรการเฝ้าระวังการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเพิ่มความในมาตรา 35/1 เปิดช่องให้มีการเฝ้าระวัง การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน โดยหน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยแผนงานโครงการ หรือราคากลางให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป และแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง นอกจากนี้หากแผนงานหรือโครงการใดส่อว่าจะใช้จ่ายโดยทุจริต หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากำหนดราคากลางสูงเกินความจำเป็น ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้มีการเอื้อประโยชน์กับบุคคลหรือนิติบุคคล หรือคู่สัญญารายใด ให้เรียกข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานมาพิจารณา หรือส่งเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ยังมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน แต่คาดว่าเมื่อประกาศใช้จริง ปัญหาการทุจริตจะน้อยลง ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง เป็นไปตามกฎหมาย จะได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ ปราศจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลดีต่อความน่าเชื่อถือในการลงทุน ซึ่งดีต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง

Related